Digital Economy

ฟังแนวคิด ‘เออาร์ไอพี’มหกรรมไอทีแบบไหนที่ยังขายได้ในปัจจุบัน

ความสำเร็จ COMMART JOY 2018 6
ภาพบรรยากาศงาน COMMART JOY (ขอบคุณภาพจากคอมมาร์ต)

เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่งาน “คอมมาร์ต” เกิดและอยู่คู่สังคมไทยในฐานะงานแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และเป็นแหล่งรวมสินค้าด้านไอทีนานาชนิด ซึ่งหากเทียบเป็นคน อายุ 18 ปีก็ถือว่ากำลังวัยรุ่น มีพลัง และพร้อมจะริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ

แต่สำหรับการเป็นงานแสดงสินค้าไอทีในยุค Digital Disruption ก็ต้องยอมรับว่า เส้นทางของคอมมาร์ตนับจากนี้ อาจไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว เนื่องจากมีความท้าทายจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่สามารถทำการตลาดออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างแม่นยำ

ความท้าทายนี้ ก็เป็นสิ่งที่ผู้อำนวยการธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บมจ.เออาร์ไอพี อย่าง “นายพรชัย จันทรศุภแสง” มองเห็นเช่นกัน แต่ทัศนะของเขาต่อกรณีดังกล่าวก็น่าสนใจ โดยนายพรชัยได้บอกเล่าผ่านงานแถลงข่าวการจัดงาน “Commart Work 2018” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นมาแน่ แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่คู่แข่งของคอมมาร์ต เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1. อีเวนท์มีเสน่ห์ด้านความมีชีวิตชีวา

นายพรชัยชี้ว่า “เสน่ห์ของการจัดอีเวนท์ที่โลกออนไลน์สู้ไม่ได้คือความมีชีวิต เราเชื่อว่ามนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคม เราต้องการพบปะผู้คน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน การมาเดินงานคอมมาร์ต นอกจากจะได้ดูของ ดูคนแล้ว ก็ยังได้เห็นสภาพตลาด เห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่หาไม่ได้จากโลกออนไลน์”

2. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปไม่กระทบงานคอมมาร์ต

โดยนายพรชัยมองว่า ภาพของคนยุคดิจิทัลที่จะมาเช็คราคาสินค้าไอทีหน้าบูธในงานคอมมาร์ตจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ เพราะไม่ว่าออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็ยังนำไปสู่การจับจ่าย

3. เน้นสินค้าพรีเมียมที่หาไม่ได้ทั่วไป

ในจุดนี้ นายพรชัยระบุว่าเป็นจุดเด่นของคอมมาร์ต ที่สนับสนุนให้แบรนด์ต่าง ๆ นำสินค้าพรีเมียมของทางแบรนด์มาจัดแสดงให้ผู้บริโภคได้สัมผัส ซึ่งจะแตกต่างจากหน้าร้านทั่วไปที่มักไม่ค่อยมีสินค้าตัวจริงเสียงจริงให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้งาน หรือก็คือเน้นการสร้าง Experience ให้กับผู้เข้าชมงาน ไม่ต่างจากที่ธุรกิจค้าปลีกกำลังปรับตัวอยู่ในขณะนี้

4. มีการอิงตลาดเกมออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายอาจเป็นส้มหล่นของตลาดพีซีและโน้ตบุ๊กที่ได้กระแสของเกมมาช่วยผลักดันให้มีการเติบโต โดยนายพรชัยระบุว่า คอมพิวเตอร์สำหรับการเล่นเกมเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะผู้ซื้อเน้นความต้องการใช้งานเป็นหลัก อีกทั้งตลาดคอมพิวเตอร์เพื่อการเล่นเกมยังมีการอัปเกรดชิ้นส่วนถี่มากกว่าในอดีตด้วย โดยคาดการณ์กันว่า ในปี 2562 ยอดผู้เล่นอีสปอร์ตจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดไอทีไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมของตลาดไอทีปี 2561 ที่ได้มีการเปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงาน Commart Work 2018 ถือว่าดีขึ้น โดยมีตัวเลขจากไอดีซีชี้ว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์พีซีรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.4 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นโน้ตบุ๊กและเดสก์ทอปอย่างละ 50% และคาดว่าในปี 2562 ก็จะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% เช่นกันจากปัจจัยสำคัญอย่างเกมและอีสปอร์ตนั่นเอง

Avatar photo