Finance

‘เวิลด์แบงก์’ ประเมินศก.ปีนี้ขยายตัว 4.5% ส่วนปีหน้าชะลอตัว!!

ธนาคารโลก

“เวิลด์แบงก์” ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 4.5% สูงขึ้นจากปีที่แล้ว ก่อนจะชะลอการขยายตัวลงมาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2562-2563

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รายงาน East Asia and Pacific Economic Update คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 2561 จะขยายตัว 4.5% สูงขึ้นจากปีก่อน ก่อนที่จะเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 3.9% ในปี 62-63 โดยเวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้จาก 4.1% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5% หลังดูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ การลงทุนภาครัฐ การปฏิรูประบบราชการ การออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าตัวเลขมีความโดดเด่นในภูมิภาค

โดยภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวก แม้ปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโต โดยธนาคารโลกคาดว่าในปี 2561 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตได้ที่ 6.3% โดยมองว่านโยบายกีดกันและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อมและสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ ในปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคยังไม่มีอะไรไม่ดี แต่ในระยะต่อไปอาจมีปัญหาเรื่องแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงได้ จากผลกระทบเรื่องสถานการณ์การค้าโลกที่อาจชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลที่รุนแรงขึ้นในปี 2562 โดยหากผลกระทบมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยลบภายนอกมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมการส่งออกของภูมิภาค จากปริมาณการค้าที่ลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคต่อไปดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องกำหนดวิธีการแก้ปัญหา

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารโลกยังปรับขึ้นประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2562 – 2563 จาก 3.8% เป็น 3.9% โดยมองว่า การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากในปีนี้มีการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การเร่งรัดลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าก่อนหน้านี้ แต่ในปีถัดไปจะเป็นการลงทุนตามแผนงานปกติ ประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความผันผวนน้อยสุด เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทั้งตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด สถานะทางการคลังที่มั่นคง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงมาก นโยบายการเงินและการคลังที่จะนำมาใช้ดูแลภาวะเศรษฐกิจยังมีช่องทางให้เลือกอีกมาก

“ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าประเทศอื่น เพราะมีปัจจัยพื้นฐานดี” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงชั้นความยากจนของประชากรแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลงมาเป็นลำดับ จาก 7.1% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2559, 5.6% ในปี 2560 โดยคาดว่าจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 4.8% ในปี 2561, 4.2% ในปี 2562 และ 3.6% ในปี 2563

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight