Finance

จับตา!! ไอพีโอรายใหญ่ดูดเงินตลาดหุ้น  

setswing3

เมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งตามสถิติแล้วจะพบว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จึงให้บริษัทที่สนใจจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยพร้อมใจกันเข้ามาจดทะเบียน ล่าสุดในไตรมาส 4 ปีนี้จะเห็นว่ามีบริษัทขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปหลายแห่ง ประกาศแผนการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปหรือไอพีโอ

ทั้งนี้ มูลค่าการระดมทุนของแต่ละบริษัทหากพิจารณาจากขนาดทุนจดทะเบียนของบริษัทแล้ว ถือว่ามูลค่าการระดมทุนอยู่ในระดับสูง โดยมีบางแห่งมีมูลค่าการระดมทุนมากกว่าเกิน 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF)  ก็จะเสนอขายกองทุนเช่นกัน มีมูลค่าการระดมทุนสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท

หากรวมๆกันแล้วมูลค่าการระดมทุนเกือบแตะแสนล้านบาท จึงทำให้นักวิเคราะห์เริ่มมีความกังวลว่า ผู้ลงทุนบางส่วนอาจต้องกันเงินไว้ เพื่อลงทุนในหุ้นไอพีโอ เพราะมีโอกาสที่จะสร้างกำไรส่วนต่างได้มากกว่า จึงอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขาย หรือสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงไปช่วงหนึ่ง

บล.บัวหลวง ระบุว่า ในช่วงที่หุ้นไอพีโอขนาดใหญ่เข้ามาระดมทุน อาจเกิดภาวะการดูดสภาพคล่อง (Liquidity drain ) จากการเปิดจองซื้อหุ้น IPO ขนาดกลาง-ใหญ่ จำนวนมากในช่วงนี้ เช่น หุ้นโอสถสภา (OSP) หุ้นบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) หุ้นโรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) คาดจะทำให้นักลงทุน ทั้งกองทุน นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนรายย่อย อาจต้องกันเงินบางส่วนไว้จองหุ้นไอพีโอ เพราะต้องกันเงินเผื่อ จากภาวะ Oversubscribe (ล้นจอง) แต่จะส่งผลดีต่อตลาดหลังจากหุ้นเหล่านี้เข้าตลาดไปแล้ว เพราะ สภาพคล่อง อาจจะบวกโอกาสมีกำไรจากราคาไอพีโอ จะกลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัทที่เตรียมจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ ประกอบด้วย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ประเภทธุรกิจธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า

ทั้งนี้ มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เบื้องต้น บริษัทคาดว่ามูลค่าการเสนอขายจะอยู่ที่ราว 1.3 – 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเข้าซื้อขายหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร  หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนเสนอขายไอพีโอไม่เกิน 603.75 ล้านหุ้น แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67 ล้านหุ้น และ Y Investment Ltd จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทใหญ่ที่มีแผนขายหุ้นไอพีโอv2

บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)หรือ BGC  ประกอบธุรกิจจัดจำหน่าย ส่งออกและนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว รวมถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว ผ่านบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยมีแผนจะเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรม จำนวนหุ้นที่ IPO 194.44 ล้านหุ้น มีที่ปรึกษาทางการเงินเป็น บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DO ประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และให้บริการด้านวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด “ครบ ถูก ดี…ที่ดูโฮม”  มีสาขาที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 9 สาขา ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา รังสิต ขอนแก่น อุดรธานี พระราม2 บางบัวทอง เชียงใหม่ และบางนา ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ / พาณิชย์ จำนวนหุ้นที่ IPO จำนวนไม่เกิน 468 ล้านหุ้น  ประกอบด้วย หุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 400 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Amplus Holdings Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 68ล้านหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) , บริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9  ประเภทธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลพระรามเก้า” ขนาด 166 เตียงจดทะเบียน ให้บริการลูกค้าเงินสด ลูกค้าคู่สัญญา และลูกค้าต่างชาติ บนถนนพระราม 9 เขตศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลระดับนานาชาติจากองค์กร  JCI จำนวนหุ้นไอพีโอหุ้นสามัญเพิ่มทุน ไม่เกิน 180 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการประชาชนทั่วไป ไม่เกิน 167.50 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหารที่เป็นผู้ก่อตั้ง ไม่เกิน 12.50 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน ไม่เกิน 20 ล้านหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ประเภทธุรกิจผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนนานาชาติ และให้บริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 260ล้าน หุ้น โดยเสนอขายให้ประชาชน 234,000,000 หุ้น และ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และบุคลากรของโรงเรียน 26ล้านหุ้นโดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ประเภทธุรกิจประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัย โดยปัจจุบันมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก 2 บริษัท ได้แก่  บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Broker) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นบริษัทแกน และบริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Life) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต เข้าระดมทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงิน / ประกันภัยและประกันชีวิต โดยมีจำนวนหุ้นไอพีโอ ไม่เกิน 75 ล้านหุ้น

นอกจากนี้กองทุน TFFIF คาดจะสามารถเปิดขายหน่วยวันที่ 12-19 ตุลาคมนี้ และคาดว่าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และซื้อขายได้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2561  โดยมีจำนวนหน่วยลงทุนที่จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในครั้งแรก (IPO) จำนวน 4,100- 4,570 ล้านหน่วย และคาดว่าจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะได้จากการเสนอขายส่วนเพิ่มทุนจะอยู่ที่ 41,000-45,700 ล้านบาท ขณะที่ประเมินอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปีแรก(ปี2562) จะอยู่ที่ 4.75 – 5.30% ซึ่งจะมีนโยบายการจ่ายปันผลขั้นต่ำจำนวน 2 ครั้งต่อปี และคาดหวังในอนาคตจะจ่ายเงินปันผลไตรมาสละ 1 ครั้ง จากส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิ 45%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight