Finance

ลุ้นระทึก!! ดัชนีหุ้นเดือนตุลาคมขยับพุ่งชน 1,800 จุด

setup2

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยในประเทศคอยสนับสนุน และจากการสำรวจสถิติของการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยเดือนตุลาคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าปรับตัวขึ้นมากกว่าลดลง  โดยในปี 2560 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,721.37 จุด เพิ่มขึ้น 2.88% ปี 2559 ดัชนีปิดที่ 1,495.72 จุด เพิ่มขึ้น 0.84% ปี 2558 ดัชนีปิดที่ 1,394.94 จุด เพิ่มขึ้น 3.41% ปี 2557 ดัชนีปิดที่ 1,584.16จุด ลดลง 0.10%

ปี 2556 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,442.88 เพิ่มขึ้น 4.32% ปี 2555 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,298.87 จุด เพิ่มขึ้น 0.01% ปี 2554 ดัชนีปิดที่ 974.75 จุด เพิ่มขึ้น 6.39% ปี 2553 ดัชนีปิดที่ 984.46 จุด เพิ่มขึ้น 0.94% ปี 2552 ดัชนีปิดที่ 685.24 จุด ลดลง 4.44% และปี 2551 ปิดตลาด 416.53 จุด ลดลง 30.18%

ทั้งนี้เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ จะเห็นว่า มีการคาดการณ์ในเดือนตุลาคมนี้ดัชนีน่าจะแกว่งตัวขาขึ้นและมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 1,800 จุดได้อีกครั้ง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยในประเทศ และยังคงแนะนำให้ลงทุนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศ และปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยหลัก

v2

บล.กรุงศรี ประเมินว่า แนวโน้มเดือนตุลาคม 2561 ยังมองเป็นบวกโดยคาดดัชนีจะปรับขึ้นทดสอบแนวต้านที่ระดับ 1,800 จุด โดยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ผ่อนคลาย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตดี จะเป็น 3 ปัจจัยหนุน ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนเดือนตุลาคมยังเป็นทางเลือกลงทุนโดยเน้นเก็งกำไรหุ้นที่งบไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะออกมาดี รวมถึงเข้าซื้อกลุ่มที่ได้ปัจจัยบวกจาก 3 ปัจจัยข้างต้น อาทิ ค้าปลีกและกลุ่มธนาคาร โดยมี 5 หุ้นเด่นเดือนนี้คือ IHL, ROBINS, SVI, TKN และ VIBHA

เช่นเดียวกัน บล.ยูโอบีเคย์เฮียน(ประเทศไทย) คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งตัว เพื่อเดินหน้าขึ้นทดสอบ 1,760 และ 1,780-1,800 จุด ตามลำดับ จากผลประกอบการ และความคืบหน้าการเลือกตั้ง ส่วนกลยุทธ์ ยังคงเป็นการทยอยสะสมในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง และการบริโภคในประเทศ อาทิ ค้าปลีก ธนาคาร รับเหมาฯ ทั้งนี้ผลจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวซื้อขายไม่แพงกว่าตลาด แม้จะมีพีอีเรโชที่สูง ก็ยังชอบ BANPU, AEONTS, PSH, EGCO, RATCH, SCB, KTB, PTT ขณะที่หุ้นเก็งกำไรระยะสั้น เลือก TKN, PM, TTA, PSL, SCN, NNCL

ส่วนปัจจัยภายนอกทรงตัว และโฟกัสของนักลงทุนกลับมายังปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะผลประกอบการไตรมาส 3/61 เริ่มโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ภายใน 20 ต.ค.) ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดผลการดำเนินงานโดยรวมมีสัญญาณฟื้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2/61 อย่างไรก็ตามในระยะสั้น มีความเสี่ยงราคาหุ้นอาจผันผวนตามประเด็นการควบคุมปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะกระทบระยะสั้นต่อทั้งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารได้แต่มองเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้น

ขณะที่ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุว่าในเดือนตุลาคม ฝ่ายวิจัยประเมินกรอบดัชนีบริเวณ 1,740 -1,780 จุด โดยยังคงแนะนำถือเงินสดไม่ต่ำกว่า 40% และทยอยสะสมกลุ่ม Domestic เช่นกลุ่มค้าปลีกที่มีหลายปัจจัยสนับสนุน และคาดรัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ (CPALL, BJC) กลุ่มก่อสร้าง (TEAMG, STEC)

สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของการลงทุนปีนี้ หากนับจากสถิติย้อนหลังพบว่าเม็ดเงินของกองทุน LTF มากกว่า 66% จะเข้าซื้อหุ้น โดยเดือนตุลาคมประมาณ 8%, เดือนพฤศจิกายน 12% และเดือนธันวาคม 46% และมีมุมมองเป็นกลางต่อปัจจัยต่างประเทศดังต่อไปนี้ เรื่องสงครามการค้า หากสหรัฐคงยังไม่ขึ้นภาษีรอบที่ 3 วงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าตลาดหุ้นได้ตอบรับปัจจัยดังกล่าวไปพอสมควร  ขณะที่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการย้ายฐานผลิต ส่งออก-นำเข้าเพื่อปรับตัวจากผลกระทบสงครามการค้า แนะจับตาประเทศไทยในอุตสาหกรรม ยาง, ปิโตร และรถยนต์

ส่วนปัจจัยในประเทศมี 3 ปัจจัยที่สำคัญนั้นคือ ผลกระทบกลุ่มท่องเที่ยวภายหลังเจอหลายปัญหาทำลายภาพลักษณ์  โอกาสการที่รัฐจะออกมาตรการพิเศษกระตุ้นการบริโภคมีสูง แนะลดสัดส่วนกลุ่มอสังหาภายหลังธปท.เตรียมคุมการปล่อยสินเชื่อ LTV, ดอกเบี้ยขาขึ้น และภาษีอสังหาฯ

คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยเดือนต.ค

สำหรับ บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคม ดัชนีจะแกว่งตัวโดยมองกรอบแนวรับไว้ที่ 1,700 จุดและ 1,680 จุด ตามลำดับ ส่วนกรอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,780 จุด

กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจหากจะต้องมีการเข้าลงทุนใหม่ได้แก่กลุ่มหุ้นปันผลสูง (SETHD) ที่ราคายังคงปรับตัวไม่แรงเท่าตลาด หากนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา  และที่สำคัญ บล.ทรีนีตี้พบว่า จากสถิติในอดีต กลุ่มหุ้นปันผลสูงนี้ ราคาหุ้นมักปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในเดือนตุลาคมของทุกปี เมื่อคิดผลตอบแทนในแง่ของผลตอบแทนทั้งหมด(Total return)

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ แนะให้ชะลอดูสถานการณ์ จนกว่าดัชนีจะมีการปรับตัวไปยังกรอบแนวรับหรือแนวต้าน จึงค่อยใช้เป็นจังหวะในการเข้าลงทุนหรือขายทำกำไร

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส คาดว่าในเดือนตุลาคม ต่างชาติยังสลับซื้อสลับขายหุ้นไทย  โดยแนวโน้มกระแสเงินทุนต่างประเทศในเดือนตุลาคม 2561 เชื่อว่าแรงซื้อน่าจะเป็นไปในลักษณะสลับซื้อสลับขายอยู่ เนื่องจากเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ชัดขึ้น และยังสอดคล้องกับสถิติเดือนตุลาคมย้อนหลัง 5 ปี ที่ต่างชาติมักขายสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ย 8.03 พันล้านบาท (ขายสุทธิ 3 ใน 5 ปี) อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว รวมถึงพัฒนาการทางการเมือง น่าจะช่วงประคองดัชนี  สอดคล้องตามสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ที่ดัชนีจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.27% และให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ใน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุว่าโอกาสที่ดัชนีจะปรับขึ้นแรงในเดือนตุลาคมนี้ มีกรอบจำกัด เนื่องจากมูลค่าของตลาดหุ้นอยู่ในระดับสูงและปัจจัยเชิงบวกจากต่างประเทศได้ออกมาในเดือนที่แล้วค่อนข้างมาก กลยุทธ์การเลือกหุ้นในเดือนตุลาคมจึงยังเน้นหุ้นขนาดกลางที่มีธีมเช่น  การเมืองที่ชัดเจน การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา การได้ประโยชน์จากตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนในเดือนสิงหาคมและแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2561 แข็งแกร่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight