Economics

‘ร.ฟ.ท.’ สั่งเคลียร์ ‘สถานีแม่น้ำ’ ดำเนินคดีผู้บุกรุกจนถึงที่สุด!!

สถานีแม่น้ำ

“บอร์ดการรถไฟฯ” สั่งเคลียร์พื้นที่ “สถานีแม่น้ำ” เตรียมรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ พร้อมสั่งดำเนินคดีผู้บุกรุกจนถึงที่สุด

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) มีคำสั่งให้การรถไฟฯ ไปบริหารจัดการพื้นที่สถานีรถไฟแม่น้ำขนาด 277.5 ไร่ เพื่อเตรียมรับโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอนาคต

โดยปัจจุบันสถานีแม่น้ำมีผู้เช่าพื้นที่อย่างถูกต้องหลายราย ซึ่งการรถไฟฯ จะให้ผู้เช่ากลุ่มนี้อยู่ต่อจนสิ้นสุดสัญญา จากนั้นจะไม่ต่อสัญญาใหม่อีก ส่วนผู้เช่าที่มีสัญญาระยะยาวและมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น ท่าเรือขนส่งน้ำมัน ก็จะคงสัญญาไว้ต่อไป ด้านผู้บุกรุกแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นรายย่อยหลายกลุ่ม บอร์ดก็ให้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่

“บอร์ดเพิ่งสั่งการมา จึงบอกไม่ได้ว่ามีผู้บุกรุกกี่รายและจะเคลียร์จบเมื่อไหร่ ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ไปสำรวจและจัดทำรายละเอียดก่อน แต่ก็พยายามจะเคลียร์ให้จบโดยเร็ว เพราะโครงการพัฒนาสถานีแม่น้ำอยู่ระหว่างขออนุมัติและกำลังจะไปเสนอไปที่บอร์ดพีพีพีแล้ว” นายวรวุฒิ กล่าว

ตั้งคณะกรรมสอบฯ หวั่นพนักงานมีเอี่ยว

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานีแม่น้ำมีผู้เช่าแบบถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 100 ไร่ และมีผู้บุกรุกแบบผิดกฎหมายประมาณ 100 ไร่ โดยผู้บุกรุกมีทั้งประเภทที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ บอร์ดจึงมีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทั้งหมด เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับโครงการพัฒนาในอนาคต สำหรับผู้บุกรุกที่ถูกฟ้องร้องไปแล้ว ก็ให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด ส่วนจะมีพนักงานการรถไฟฯ รู้เห็นกับการบุกรุกหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ดังนั้น จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาสถานีแม่น้ำ อยู่ในเขตยานนาวา กรุงเทพฯ โดยตั้งอยู่ติดกับถนนพระราม 3 และแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามย่านบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ในโครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 277.5 ไร่และมูลค่าที่ดินอยู่ที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยการรถไฟฯ ตั้งใจจะนำพื้นที่ดังกล่าวออกประมูล เพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์ด้วยแนวคิด Hub Culture Oasis ซึ่งจะมีการพัฒนาอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่อาคารพักอาศัย ท่าเทียบเรือสำราญ อาคารประชุมสัมมนา ร้านค้าปลีก คอนโดมิเนียม และร้านค้าระดับชุมชน เป็นต้น

เบื้องต้นวางแผนให้เอกชนเช่าพื้นที่เป็นเวลา 30 ปีและใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยคาดว่าเอกชนต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 96,271 ล้านบาทและจะมีรายได้ตลอดอายุสัญญาประมาณ 140,540 ล้านบาท ส่วนการรถไฟฯ ได้รับผลตอบแทนทั้งหมด 5,221 ล้านบาท สำหรับความคืบหน้าล่าสุดคือ บอร์ดการรถไฟฯ ให้ความเป็นชอบโครงการแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

โรงแรม
ภาพจาก www.centarahotelsresorts.com

สัญญาเช่าโรงแรมหัวหินหมดอายุมีนาคม 2562

สำหรับสัญญาเช่าที่ดินโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีชรีสอร์ทและวิลลาหัวหิน ขนาด 50 ไร่ และสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน (Royal Hua Hin Golf Course) ขนาด 500 ไร่ ที่กำลังจะหมดอายุนั้น เบื้องต้นการรถไฟฯ คงต้องเจรจากับเอกชนรายเดิมก่อน คือ เครือเซ็นทารา และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ตามลำดับ เนื่องจากสัญญาระบุไว้เหมือนกันว่า ผู้เช่ารายเดิมมีสิทธิ์เจรจาเพื่อต่อสัญญาเป็นเวลา 15 ปี จำนวน 2 ครั้ง แต่ถ้าการเจรจาไม่ลงตัว ก็สามารถเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่มาทดแทนได้

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์การหาผู้บริหารโรงแรมและสนามกอล์ฟ เมื่อกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ก็จะเสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) พิจารณาตามลำดับ โดยหากคณะกรรมการพีพีพีมีมติให้เจรจากับคู่สัญญาเดิม ก็ต้องเจรจาเรื่องผลตอบแทนและเงื่อนไขการลงทุนเพิ่มเติม ก่อนสรุปผล คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 1 ปีจึงแล้วเสร็จและสามารถลงนามสัญญาฉบับใหม่ได้

“สัญญาเช่าโรงแรมหัวหินฉบับเดิมของเครือเซ็นทารากำลังจะหมดลงในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสัญญาใหม่ ก็ต้องให้เครือเซ็นทาราเช่าบริหารไปก่อน จนกว่าจะมีสัญญาใหม่มาทดแทน”

Avatar photo