COLUMNISTS

‘Logical Investigation’ ทักษะที่ 2 แห่งโลกอนาคต

Avatar photo
ที่ปรึกษาบริหารโครงการ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
1613

ในปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ มีมากมายทั้งในเอกสาร และข้อมูลออนไลน์ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว

แต่คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ข้อมูลไหนที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรา เพราะบ่อยครั้งที่เราเจอปัญหา “ข้อมูลล้นสมอง” คือมีข้อมูลมากมายเต็มไปหมดแต่ไม่รู้ว่าจะหยิบข้อมูลตรงไหนมาใช้ดี ดังนั้นทักษะที่จำเป็นในอนาคตทักษะที่สองคือ การคิดวิเคราะห์แบบมีตรรกะ

ทักษะนี้คือความสามารถในการใช้เหตุผลวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อประเมินข้อมูลพร้อมทั้งระบุข้อดี -ข้อเสียของวิธีการแก้ไขปัญหาแต่ละทาง จนสามารถเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดได้

จริงอยู่ที่ความสามารถในการคิดอาจพัฒนาขึ้นเมื่อเราโตขึ้นหรือผ่านประสบการณ์มากขึ้น แต่การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างลึกซึ้งนั้นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

banner 982162 640

วิธีการฝึกการคิดอย่างมีระบบ 3 ขั้นตอน

  1. เริ่มต้นจากการถามด้วยคำถามพื้นฐาน เราจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเราต้องข้อสงสัยและเริ่มถาม บางครั้งการตั้งคำถามอาจจะช่วยฉุกความคิดของเราให้สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้ หลาย ๆ ครั้งที่การตั้งคำถามก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ เช่นการที่ รีด เฮสติ้งส์ (Reed Hastings) ผู้ก่อตั้ง Netflix ตั้งคำถามถึงวิธีการทำธุรกิจเช่า CD หนัง ทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาธุรกิจใหม่ จนกลายมาเป็นผู้นำบริการ online streaming การตั้งคำถามจะทำให้เราจัดระเบียบความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้ สำหรับคนที่ไม่เคยชินกับการถาม อาจจะเริ่มต้นด้วย 5W1H คือ what, who, where, when, why และตัวสุดท้ายคือ How โดยการฝึกถามบ่อย ๆ นอกจากจะทำให้เราได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังส่วนให้เราฝึกทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลอีกด้วย
  2. ฝึกถามคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น หลังจากที่เราคุ้นเคยกับการตั้งคำถามแล้ว เราจะค่อย ๆ เพิ่มความยากในการตั้งคำถาม โดยเริ่มถามคำถามที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์และการประเมินข้อมูลมากขึ้นเพื่อหาคำตอบมากกว่าการพูดถึงข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว โดยวิธีนี้จะเป็นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์ถึงสาเหตุและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นการที่เราเจอคนที่ตัดสินใจเลือกวิธีที่ต่างจากเรา แทนที่เราจะรู้สึกไม่พอใจ เราอาจจะเริ่มตั้งคำถาม 5W1H และตามด้วยทำไมเค้าถึงทำเช่นนั้น เป็นเพราะเค้าเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนหรือไม่ ทางเลือกที่เค้าเลือกจะมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งจะทำเราได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ลึกขึ้นมากกว่าการใช้อารมณ์ นอกจากนี้วิธีนี้ยังช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบข้อมูล ประเมินผลและช่วยพัฒนาการใช้เหตุผลบนพื้นฐานที่มีอยู่ได้
  3. ฝึกทักษะการฟัง (อย่างแท้จริง) การคิดและการฟังพร้อมกันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่การจะเป็นนักคิดที่สำคัญ เราจำเป็นที่จะต้องดูดซับความคิดเห็น ข้อโต้แย้งและคำวิจารณ์ของผู้อื่น ทักษะการฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย เพราะเราทุกคนฟังกันทุกวันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เวลาที่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นก็มันจะคิดต่อว่าแล้วเราจะพูดอย่างไร เราจะโต้กลับเขาอย่างไร ซึ่งนั่นจะไม่ใช่การฟังที่เราต้องการ การฟังที่แท้จริงคือการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมา เพื่อค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ทีละประเด็น โดยไม่กระโดดไปสู่ข้อสรุป ซึ่งนอกจากการจะช่วยเพิ่มความเข้าใจแล้ว ยังลดปัญหาการตีความผิด ซึ่งจะส่งกระทบตามมาภายหลัง

การฝึกใช้ตรรกะอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับหลาย ๆ คน แต่เชื่อว่าหากเราฝึกฝนบ่อย ๆ ไม่ย่อท้อ เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อที่ต้องใช้เวลาซักหน่อย แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะงดงามเสมอค่ะ