Startup

สนช. เผยจุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย ถูกองค์กรใหญ่เลียนแบบ

laptop 3190194 1280
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผยจุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย มักถูกองค์กร หรือผู้ใช้งานรายใหญ่ที่ฟังการนำเสนอแล้วนำไปลอกเลียนแบบได้ เตรียมแก้ปัญหาด้วยการให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ที่ปรึกษา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวว่า ในปีนี้ สนช. ได้ขยายบทบาทการสนับสนุนวัตกรรมในแผนพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ลงไปจนถึงระดับการเฟ้นหาเยาวชนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่จะใช้นวัตกรรมมาทำให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน โดยประเทศไทยได้มีการจัดงาน Startup Thailand ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว อย่างไรก็ตาม นับเป็นครั้งแรกที่เปิดเวทีแข่งขันให้สำหรับสตาร์ทอัพระดับมหาวิทยาลัย โดย 2 ปีก่อนหน้านี้ เป็นการเฟ้นหาจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดแล้ว เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

นายสาคร ชนะไพฑูรย์
นายสาคร ชนะไพฑูรย์

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ 3 ปีนี้พบว่า ในการทำสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการที่มี แพสชั่น (passion) จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่อยากทำเพราะเงิน ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพที่เกิดใหม่มักเป็นแอพ ดังนั้นมักถูกองค์กรหรือผู้ใช้รายใหญ่ๆ เมื่อฟังการนำเสนอแล้วมักลอกเลียนแบบ ทำให้เจ้าของไอเดียซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่เสียโอกาส เพราะผลงานไม่มีลิขสิทธิ์ เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้โอเพ่นซอร์สในการพัฒนา

ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

  1. ให้การปรึกษาเรื่องการจดลิขสิทธิ์
  2. ให้คำแนะนำสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนโดยเลือกกลุ่มองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีการโฟกัสการสนับสนุน อีกทั้งยังมีความต้องการใช้งานทันที
  3. กระตุ้นให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ มุ่งไปที่ Deep Technology หรือผลิตภัณฑ์/บริการที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะจะถูกลอกเลียนยาก

ปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพที่มาลงทะเบียนกับ สนช.และเข้ารับการสนับสนุนแล้ว 1,700 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนสถาบันการศึกษาที่ให้การสนับสนุนนั้น ปัจจุบันมีมากกว่า 30 แห่ง ทั้งนี้ เป้าหมายหนึ่งของประเทศไทยคือ การสร้าง Startup Nation เพราะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยมีเป้าหมายจะสร้าง Innovation – Driven Enterprise ให้ได้ 3,000 ราย และคาดว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5% ของจีดีพี รวมถึงสร้างอาชีพอย่างน้อย 50,000 ตำแหน่งภายในปี 2564

Avatar photo