Economics

‘รมว.คลัง’ สั่งเตรียมกู้เงินชดเชยขาดดุล ขยายฐานรีดภาษี ยันไม่มีช็อต!

รมว.คลัง ยันพร้อมกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเพิ่มเติมได้ หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ ชี้เคยทำมาแล้วในงบประมาณปี 2563 พร้อมขยายฐานรีดภาษี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากร ว่า รัฐบาลยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 ไว้เท่าเดิม ที่ 2.085 ล้านล้านบาท แม้ว่า ท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่างบประมาณ 2564 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งสามารถกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเพิ่มเติมได้ หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังก็ได้ดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว

โดยขณะนี้ได้ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปประเมินการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้ไปดูตัวเลขรายจ่าย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร สำหรับข้าว และยางพาราไปแล้ว และหลังจากนี้จะมีพืชอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มาประเมินว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้เพียงพอหรือไม่ หรือต้องกู้เพิ่มเติมอีกจำนวนเท่าไหร่

รมว.คลัง

“การกู้เงินเพิ่มจะเหมือนกันปีงบประมาณ 2563 เป็นการกู้กรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งยังเหลือช่องว่างกู้ได้อีกเท่าไหร่ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูอยู่ โดยจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่า รายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ช็อตแน่นอน” รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 6.32 แสนล้านบาท โดยหากจะมีการกู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รัฐบาลจะสามารถกู้ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะกฎหมาย กำหนดว่ากระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของต้นเงินชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะอยู่ที่วงเงินประมาณ 7.36 แสนล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ 2563 วงเงินรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 4.6 แสนล้านบาท และมีการขออนุมัติ ครม. กู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท ซึ่งเต็มเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้

นายอาคม กล่าวอีกว่า การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ 2564 โดยมี รมว.การคลังเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อเร่งรัดและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในไตรมาส 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2564ให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในประเทศ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเรื่องการเปิดการท่องเที่ยวยังต้องอาศัยเวลา

ในส่วนงบรายจ่ายประจำที่ต้องเร่งเบิกจ่าย ได้แก่ รายจ่ายเพื่อการประชุม สัมมนา จะประสานให้มีการดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยจะหารือกับสำนักงบประมาณให้เพิ่มงบในส่วนนี้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อีก เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้เงินในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินในส่วนนี้สะพัดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเร่งการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน และให้มีการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจไทย ต้องการการกระตุ้นในระยะสั้น พร้อมๆ ไปกับระยะยาว โดยตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้เป็นติดลบ 7.1% จากคาดการณ์เดิมติดลบ 7.7% และคลังลดคาดการณ์จีดีพีเหลือติดลบ 7.7% จากคาดการณ์เดิม ติดลบ 8.5% ส่วนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะแถลงสัปดาห์หน้า ก็คาดวาจะปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำชับให้ดูแลนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว มีการติดลบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ แต่มาตรการด้านการเงินและการคลังต่างๆ ก็ยังมีความสำคัญ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี การลดอัตราดอกเบี้ย และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากร ใน 3 เรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ได้แก่

1. การขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการชักชวนให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริง 3 ล้านคน และเป็นผู้อยู่นอกระบบภาษีอีก 6 ล้านคน การขยายฐานภาษีถือว่ามีความสำคัญเพราะว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ให้มีการขยายฐานภาษีนิติบุคคลด้วย

2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยให้นำเทคโนโลยีไปสู่การเก็บภาษีด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรให้ความสำคัญเรื่องนี้และดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว

3. การปรับโครงสร้างภาษี ได้ขอให้กรมสรรพากรช่วยพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลังโควิด-19 โดยให้ประสานกับกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ออนไลน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo