Business

บิ๊กตู่ ปลื้ม! คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน บรรลุเป้าหมายแผนพัฒนาฉบับ 12

คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน ปี 2562 จาก 6.7 ล้านคน ปีก่อนหน้า บิ๊กตู่ ลั่น พอใจการแก้ปัญหาความยากจน บรรลุ แผนพัฒนาฉบับที่ 12 จับตาผลกระทบโควิดปีนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจภาพรวม ผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลัง สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพบว่า คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 จาก 6.7 ล้านคนในปี 2561

คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน

ทั้งนี้ สัดส่วนคนจนลดเหลือลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย ของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ โครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น

ขณะที่ในแง่รายได้ปี 2562 พบว่า โดยภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81

“การที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น”นางสาวไตรศุลี กล่าว

นอกจากนี้ สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ร้อยละ 6.24 ยังทำให้ประเทศไทย บรรลุวัตถุประสง ค์ตามเป้าหมายในการแก้ ปัญหาความยากจน ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้ สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนถึงการประสบความสำเร็จ ในการลด ปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับ การแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ

ไตรศุลี ไตรสรณกุล 2
ไตรศุลี ไตรสรณกุล

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวม จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจน ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป จนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรค โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน

จากการรายงานของสภาพัฒน์ฯ พบว่า สัดส่วนความยากจน ลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้ม ลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า จะต้องแก้ไข ปัญหาความยากจน ต่อไป เพราะสาเหตุของความยากจนนั้น มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ปัญหาภาคเกษตรกรรม การอาศัยอยู่ในครัวเรือนใหญ่ ที่ทำให้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ซึ่งอาจไม่ได้รับการดูแล ภายใต้กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน ทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยให้คนยากจน มีรายได้ที่สูงขึ้น แต่คนจนยังคงเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คนจนไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ข้อของสภาพัฒน์ฯ ประกอบด้วย

1. การมีระบบข้อมูลเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยากจน มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูล ที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชากรที่มี ปัญหาความยากจน กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด

2. การจัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กับคนจนอย่างเหมาะสมและแตกต่างตามลักษณะของคนจน

3. การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

4. การบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น

5. ขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นกลไกในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. การติดตามและประเมินผลกระทบของนโยบาย โดยมีการประเมินผลมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่สำคัญอย่างเป็นระบบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo