Business

ชาวสวนเฮ! ราคายางพาราพุ่ง ต่อเนื่อง กยท.ชี้เปรี้ยงมีสิทธิ์แตะ ‘ 100 บาท’

ราคายางพาราพุ่ง ทะลุกิโลกรัมละ 80 บาทแล้ว ชาวสวนเฮ! ขณะที่กยท.เชื่อราคายางพารามีสิทธิ์แตะ 100 บาทต่อกก. ด้านเกษตรฯ ลุย 6 มาตรการ เจาะตลาดจีนทุกมณฑล 
ราคายางพาราพุ่ง นับเป็นความโชคดีของเกษตรกรชาวสวนยางพารา หลังจากราคาตกต่ำมาก่อนหน้านี้ ปัจจุบันนี้ปรากฎว่าราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากราคารับซื้อที่ตลาดกลางยางพารา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และตลาดกลางฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขยับเพิ่มขึ้น
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  กล่าวว่าราคายางยังแรงไม่หยุด ปิดตลาดวานนี้ (28 ต.ค.) ราคายางแผ่นรมควันพุ่งแตะสูงสุด 82.80 บาท/กก. ที่ตลาดกลางยางพารา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ส่วนตลาดกลางฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคาอยู่ที่ 82.69 บาท/กก. หลังจากเปิดตลาดสัปดาห์นี้เพียง 3 วัน ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 16 บาท คาดการณ์ว่าราคาสามารถพุ่งสูงต่อเนื่องอาจแตะ 100 บาท/กก. ทั้งนี้ราคายางจะยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน

ราคายางพาราพุ่ง มีสิทธิ์แตะกิโลฯละ 100 บาท 

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทาน และมาตรการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศส่งผลทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอ้างอิงได้จากปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.4 แสนตัน น้อยกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ10% ขณะเดียวกัน ความต้องการยางในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทยุทธภัณฑ์ ถุงมือยาง ยางยืด
นายณกรณ์ กล่าวว่าจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางที่มากที่สุด มีการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4.9%  ดัชนี PMI ของจีนยังอยู่ที่ 51.50 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว คำสั่งซื้อยางของจีนจากต่างประเทศกลับมาฟื้นตัว การจำหน่ายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 63%  กำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มใช้ยางมากขึ้นด้วย เชื่อว่าราคายางยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่น่าหวั่นใจว่า ต่อไปผลผลิตยางอาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ

เกษตรฯ-พาณิชย์ เป็นปลื้ม!

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าสถานการณ์ความต้องการยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ราคายางในประเทศและในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดล “เกษตรพาณิชย์ทันสมัย” ซึ่งเป็นความร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง
ราคายางพุ่ง

ราคายางพาราพุ่ง เหตุ 6 มาตรการช่วยดัน

ล่าสุด คือ 6 มาตรการปฏิรูปยางพาราตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอลเพื่อเพิ่มราคาและสร้างเสถียรภาพราคารวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นลงทุนแปรรูปส่งเสริมวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้กลยุทธ์ใหม่ การขายการตลาดเชิงรุกเจาะจีนทุกมณฑลและเปิดตลาดใหม่ๆในประเทศต่างๆ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1.มาตรการตลาดและราคา(Market & Price)
2. มาตรการการบริหารด้านอุปทาน(Supply Side Management)
3.มาตรการการบริหารด้านอุปสงค์ ( Demand Side Management)
4. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
5. มาตรการลดสต็อกยางพารา
6. มาตรการเพิ่มรายได้
ก่อนหน้านี้ นายณกรณ์ กล่าวว่าราคายางยังแรงไม่หยุด วันเดียวพุ่ง 6 บาท/กก. หลังปิดตลาดวันแรกของสัปดาห์ราคายางแผ่นรมควันพุ่งแตะสูงสุด 72.50 บาท/กก. ที่ตลาดกลางยางพารา จ. สงขลา ส่วนตลาดกลางฯ จ.นครศรีธรรมราช และตลาดกลางฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคาอยู่ที่ 72.30 บาท/กก. และ 72.26 บาท/กก. ตามลำดับ จากราคาเปิดตลาด 66.22 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 บาท คาดการณ์ราคายางสามารถพุ่งสูงต่อเนื่องแตะ 80 บาท/กก.
ราคายางพาราพุ่ง
นายณกรณ์ กล่าวว่า ราคายางยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน  ปัจจัยที่ส่งผลด้านราคายางมาจากสภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางที่มีฝนตกชุก และเกิดน้ำท่วม และยังมีพายุโซเดลซึ่งเป็นพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัว ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นอีกในช่วงสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ผลผลิตยาง ออกสู่ตลาดน้อยลง
ทั้งนี้อ้างอิง จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.41 แสนตัน  ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ขณะเดียวกันในช่วงนี้ตรงกับกำหนดส่งมอบยางตามสัญญาซื้อขายที่ทำไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้ผลลิตยางที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยางที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่าหวั่นใจว่าผลผลิตยางจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight