COLUMNISTS

จุดเริ่มต้นของตอนอวสาน ‘ตู้เติมเงิน-เคาน์เตอร์เซอร์วิส’

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
804

 

เป็นเรื่อง “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ภายหลังธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ชำระบิลค่าสินค้า/บริการ รวมทั้งการเติมเงินผ่านระบบ Internet Banking

เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ( KBANK) มีผล 28 มีนาคม
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) มีผลวันที่ 29 มีนาคม
และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

bb9

 

ยังไม่นับรวมธนาคารพาณิชย์นาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่เริ่มทยอยประกาศออกมา เพื่อหวังรักษาฐานลูกค้า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้…

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมธนาคาร และเป็นการเร่งให้เกิดธุรกรรมโอนเงิน Online มาแทนระบบ Off line (เคาน์เตอร์, ตู้เติมเงิน) เร็วขึ้นกว่าเดิม!!!!

หากจำกันได้ราว 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการบัตรเครดิต ที่ออกมา “ปฏิวัติวงการ” ด้วยการประกาศไม่คิดค่าธรรมเนียมผู้ถือบัตรเครดิต ทำเอาวงการสะเทือนเลื่อนลั่น ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเล็ก ต้องปรับกลยุทธ์สู้ทุกรูปแบบเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ตามมาด้วยการลดแลกแจกแถมของสมนาคุณต่างๆ และทำให้ KTC กลายมาเป็นผู้นำตลาดบัตรเครดิตในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่างๆ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นปี 2559 พบว่ามีจำนวน 388 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% จากปี 2558 ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเป็นการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกัน 38% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 24.9% และคาดว่าจะขึ้นในปีถัดๆ ไป

bb7

พลันที่มีกระแสข่าวออกมา ส่งผลกระทบโดยตรงกับ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) ผู้ประกอบการตู้เติมเงิน “บุญเติม” เพราะรายได้หลักของ FSMART มาจากธุรกิจเติมเงินมือถือ สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น FSMART ลงไปทดสอบจุดต่ำสุดที่ 10.10 บาท/หุ้น

ขณะที่บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการชำระค่าบริการบิลสินค้าและค่าบริการต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ก็ได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆเช่นกัน ราคาหุ้น CPALL ทรุดตัวลงกว่า 3% ลดลงต่ำสุดที่ 86.50 บาท/หุ้น

พูดได้ว่า…สงครามค่าฟรีเป็นฉากเริ่มต้นตอนอวสานของ “ตู้บุญเติม” และ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ก็ว่าได้ เพราะถือเป็นธุรกิจ “เก่า” เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ทำให้ต้นทุนลด หากผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัว แน่นอนว่าย่อมหายไปจากตลาดในที่สุด
แม้ผู้บริหารจะออกมาให้ความเห็นว่า เป็นลูกค้าคนละกลุ่ม โดยส่วนใหญ่ลูกค้าของ “ตู้บุญเติม” เป็นกลุ่มชาวบ้าน ในระดับ “รากหญ้า” ก็ตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ด FSMART มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน โดยจะใช้เงินสูงสุดไม่เกิน 300 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน – 17 ตุลาคม 2561

อย่างไรก็ตาม บล.เอเซีย พลัส มองว่า การประกาศซื้อหุ้นคืนถือเป็นข่าวบวกระยะสั้นๆ แต่ภาพระยะกลางยาวคาดว่ายังได้รับผลกระทบการยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกดดันให้กลุ่ม Non bank เช่น CPALL และ BJC เข้าสู่สงครามราคา ทำให้เป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจให้บริการชำระสินค้า และการโอนเงิน (bank agent) ของ FSMART ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของรายได้ และหวังว่าจะได้รับชดเชยจากธุรกิจหลัก คือ บัตรเติมเงินในธุรกิจมือถือ (ราว 90% ของรายได้รวม) จึงอยู่ระหว่างปรับลดกำไรระยะยาว แต่ได้ปรับลด long-term growth เหลือ 0% จึงได้ Fair Value ปี 61 อยู่ 11.40 บาท แนะนำ Switch

มาดูกันซิว่าผลการดำเนินงานของ FSMART เป็นอย่างไร… ย้อนหลัง (2557-2560) มีรายได้รวม 1,164.31 ล้านบาท 1,683.96 ล้านบาท 2,427.08 ล้านบาท และ 3,364.56 ล้านบาท กำไรสุทธิ 153.48 ล้านบาท 271.74 ล้านบาท 420.33 ล้านบาท และ 542.90 ล้านบาท ตามลำดับ

งานนี้…ผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ ได้รับผลประโยชน์เต็มๆครับ หมดยุค “เสือนอนกิน” แล้ว สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์บ้านเรา