Videos

10 มหาเศรษฐีพันล้านอุตสาหกรรมพลังงาน

นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านประจำปี 2561 พร้อมทั้งแยกให้เห็นเป็นรายภาคอุตสาหกรรมว่า มหาเศรษฐีพันล้านรายใด ที่มีฐานะร่ำรวยมากสุดในอุตสาหกรรมนั้นๆ

The Bangkok Insight ได้คัดเลือกอุตสาหกรรมที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งมาให้ดูกัน โดยในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า มหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ใน 10 อันดับแรกของอุตสาหกรรมนี้ เกือบทั้งหมด และแน่นอนว่าสินทรัพย์ที่สร้างความร่ำรวยมากสุดในด้านนี้ คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

มูเคช อัมบานิ

ประธานกรรมการบริหาร รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีรายได้มากถึง 51,000 ล้านดอลลาร์ ติดกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดของอินเดีย

ธิรุภัย อัมบานี บิดาของเขาเป็นผู้ตั้งรีไลแอนซ์ขึ้นมาเมื่อปี 2509 ในฐานะบริษัทผลิตสิ่งทอ ซึ่งนอกจากธุรกิจพลังงานแล้ว รีไลแอนซ์ ยังมีธุรกิจอีกหลายด้าน รวมถึง บริการมือถือ

เลโอนิด มิคีลสัน

ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหารโนวาเทค ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ  โดยในปี 2560 เขาเข้าซื้อหุ้น 17% ในซีเบอร์ บริษัทปิโตรเคมี จากคิริลล์ ชามาลอฟ ซึ่งรายงานบางกระแสระบุว่าเป็นอดีตลูกเขยของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำให้เขามีหุ้นในซีเบอร์ทั้งหมด 48%

หุ้นส่วนของเขาทั้งในโนวาเทค และซีเบอร์ คือ เจนนาดี ทิมเชนโก มหาเศรษฐีที่เชื่อกันว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูติน

วาจิต อเลกเปรอฟ

จากอดีตคนงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลแคสเปียน อเลกเปรอฟกลายมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันในสมัยสหภาพโซเวียต ก่อนที่จะเข้าถือครองแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่สุด 3 แห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงเมื่อปี 2534 และก่อตั้งลุคออยล์ขึ้นมา

ปัจจุบัน ลุคออยล์เป็นบริษัทน้ำมันอิสระที่มีขนาดใหญ่สุดของรัสเซีย ซึ่งอเลกเปรอฟถือหุ้นอยู่เกือบ 1 ใน 4

เจนนาดี ทิมเชนโก

นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้ง และเจ้าของโวลกา กรุ๊ป กลุ่มบริษัทลงทุนเอกชนแล้ว ทิมเชนโก ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทต่างๆ หลายแห่งในรัสเซีย รวมถึง โนวาเทค บริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติ และซีเบอร์ โฮลดิ้ง บริษัทปิโตรเคมี

เขาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของรัสเซีย มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประธานาธิบดีปูติน สถานะที่ทำให้เขาโดนสหรัฐคว่ำบาตรเมื่อปี 2557

แอนเดรย์ เมลนิเชนโก

มหาเศรษฐีนักอุตสาหกรรม ผู้ถือหุ้นข้างมากใน ยูโรเคม กรุ๊ป บริษัทผลิตปุ๋ย ซุค ผู้ผลิตถ่านหิน และเอสจีเค บริษัทผลิตเครื่องปั่นไฟ

เมลนิเชนโกเริ่มทำธุรกิจทั้งหมดนี้ และในทีเอ็มเค บริษัทส่งออกท่อกับ เซอร์ไหก โปปอฟ หุ้นส่วนของเขา ก่อนที่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 คนจะตัดสินใจแยกจากกัน และแบ่งสินทรัพย์กันไป

มิคาอิล เฟรดมาน

นักธุรกิจรัสเซีย ที่มีเชื้อสายอัลเบเนีย แต่ถือสัญชาติอิสราเอล โดยเขากับมหาเศรษฐีอีก 2 ราย คือ เจอร์มัน ข่าน และอเล็กไซ คุซมิเชฟ ก่อตั้ง และถือหุ้นข้างมากในอัลฟ่า กรุ๊ป และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เล็ตเตอร์วัน บริษัทลงทุนข้ามชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในลักเซมเบิร์ก

มหาเศรษฐีทั้ง 3 รายนี้เป็นหุ้นส่วนกันมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในปี 2556 เขาสามารถทำเงินได้ราว 5,100 ล้านดอลลาร์ จากการที่ร่วมมือกับหุ้นส่วนรายอื่นๆ ขายหุ้นในทีเอ็นเค-บีพี ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันไป 14,000 ล้านดอลลาร์

วิคเตอร์ วิคเซลเบิร์ก

นักธุรกิจรัสเซีย ที่เกิดในยูเครน เป็นเจ้าของ และประธานบริหารเรโนวา กรุ๊ป กลุ่มบริษัทรายใหญ่ของรัสเซีย เขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย เคยเป็นผู้ดูแลโครงการต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียทันสมัย และเป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจรัสเซียที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตร

ชื่อของวิคเซลเบิร์ก กลายเป็นข่าวดังเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังมีการเปิดเผยว่า บริษัทสหรัฐที่เขาเข้าไปลงทุนนั้น จ่ายเงินมากถึง 500,000 ดอลลาร์ ให้กับไมเคิล โคเฮน ทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ

แฮโรลด์ แฮมม์

ผู้บุกเบิกวิธีขุดเจาะน้ำมันที่เรียกสั้นๆ ว่า แฟรคกิ้ง (Fracking) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอคอนติเนนตัล รีซอร์สเซส บริษัทน้ำมันอิสระรายใหญ่สุดของสหรัฐ

ในช่วงทศวรรษ 90 เขาได้พัฒนาวิธีการขุดเจาะน้ำมันแนวใหม่ขึ้นมา ด้วยการฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน ทำให้ชั้นหินปล่อยน้ำมัน และก๊าซในชั้นหินออกมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโแมหน้าอุตสาหกรรมน้ำมันครั้งใหญ่

ทุกวันนี้ คอนติเนนตัล ผลิตน้ำมันได้มากกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน

เจอร์มัน ข่าน

มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวรัสเซีย-ยูเครน ผู้ก่อตั้งอัลฟ่า กรุ๊ป และเล็ตเตอร์ วัน ร่วมกับ มิคาอิล เฟรดมาน และอเล็กไซ คุซมิเชฟ เพื่อนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเรียน

ในปี 2546 ทิวเมน ออยล์ บริษัทในเครืออัลฟ่ากรุ๊ป ได้ควบรวมกิจการกับธุรกิจของบีพีในรัสเซีย ดำเนินธุรกิจในชื่อทีเอ็นเค-บีพี ซึ่งหลังจากนั้น 10 ปี หุ้นส่วนทั้ง 3 รายก็ได้ตัดสินใจขายหุ้น 25% ที่ถืออยู่ในบริษัทน้ำมันแห่งนี้ด้วยมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์

จอร์จ ไคเซอร์

นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ประธานกรรมการบริหาร บีโอเค ไฟแนนเชียล คอร์เปอเรชัน ในรัฐโอกลาโฮมาสหรัฐ โดยเขาเข้าบริหารกิจการไคเซอร์ ฟรานซิส ออยล์ ต่อจากบิดาของเขาเมื่อปี 2512

ภายใต้การบริหารของจอร์จ ไคเซอร์ ฟรานซิส ออยล์ ได้ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทสำรวจน้ำมันที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด รายใหญ่อันดับ 23 ของสหรัฐ

ที่มา: FORBES

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight