Business

‘สุพัฒนพงษ์’ ปูพรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงคนมีเงิน ควักกระเป๋าจ่าย

ปูพรมกระตุ้นเศรษฐกิจ “สุพัฒนพงษ์” ถก ศบศ. งัดมาตรการภาษี ดึงกลุ่มกำลังซื้อสูง ควักเงินใช้จ่าย รัฐสมทบให้ เหมือนช้อปช่วยชาติ อัดฉีดเศรษฐกิจฟื้นใน 2 ปี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะหารือ ปูพรมกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการนำมาตรการภาษี ดึงกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ออกมาจับจ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ

ปูพรมกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จะเป็นการให้มาร่วมจ่ายกับรัฐ ในรูปแบบ Co-pay ลักษณะเหมือนช็อปช่วยชาติ หรือ ชิมช็อปใช้ แต่อย่าไปยึดติดกับชื่อ ขอให้ดูว่า มาตรการที่จะออกมา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อได้ โดยจำนวนเงินที่รัฐจะสมทบให้ อาจจะเป็นในรูปแบบการคืนภาษีให้ หรือใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ บางส่วน

เป้าหมายของทีมเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่า จะเห็นเศรษฐกิจไทย ฟื้นกลับมาปกติได้ เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยภาครัฐเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากมีความแน่นอนเรื่องวัคซีน เม็ดเงินที่เหลืออยู่ ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็สามารถที่จะทำมาตรการลงไป สู่ระบบเศรษฐกิจได้เลย เป็นการติดเทอร์โบเศรษฐกิจประเทศไทยให้กลับมาอีกครั้ง

อีกแนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมคือ การผลักดันให้กรุงเทพ เป็นสำนักงานใหญ่ ของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ หรือเป็นการส่งเสริมนโยบาย International headquarter ในกรุงเทพ โดยอาศัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า ค่าเช่าสำนักงาน และค่าครองชีพ ที่ไทยสามารถแข่งขันกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ๆ ได้

นโยบาย International headquarter ในกรุงเทพ จะผลักดันควบคู่ไปกับ นโยบายการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติ เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพื่อการลงทุน หรือพำนักระยะยาว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกทางหนึ่ง

Supattanapong Punmeechaow
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ส่วนมาตรการทางภาษี ในส่วนของการที่จะสนับสนุนการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์นั้นกำลังพิจารณาอยู่ หากมีความจำเป็น ก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ปัจจุบันสัญญาณต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ มีการปรับตัวดีขึ้น การส่งออกในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน ก็เริ่มกลับมาทำได้ดีขึ้น จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติม

ในส่วนของมาตรการการช่วยเหลือเอกชน และเอสเอ็มอี ที่มีการพักชำระหนี้วงเงินรวมกว่า 7 ล้านล้านบาท เชื่อมั่นว่า หนี้ส่วนนี้ จะสามารถแก้ไขได้ และไม่เป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การตั้งสำรอง การเตรียมสินเชื่อไว้รองรับ การขยายระยะเวลาพักชำระหนี้

ขณะที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ได้มีการค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท ส่วนธนาคารออมสิน ได้รวบรวมสินเชื่อ เพื่อออกมาตรการเพิ่มเติม โดยเตรีนมปล่อยสินเชื่ออีกประมาณ 2.5 – 3.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการตลาดทุนนั้น จะหารือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับการตั้งกองทุนบางลักษณะ ที่จะออกมารองรับ ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทย มีความไม่แน่นอน และมีความผันผวนสูง

สำหรับ นโยบายทางเศรษฐกิจในขณะนี้ จะใช้วิธีออกมาตรการ สำหรับระยะสั้น 3 เดือน จากนั้นจะมีการวัดและประเมินผล เพื่อปรับปรุง หรือขยายระยะเวลาออกไป เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ก็มีการปรับมาตรการ มาเป็นระยะ และจะขยายมาตรการไปจนถึงสิ้นปี 2563 เนื่องจากคนยังใช้สิทธิ์ไม่เต็มจำนวน และยังมีวงเงินสำหรับมาตรการเหลืออยู่ เป็นต้น

“ส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือการลงทุน ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะต้องเลิกกลัว ต้องเชื่อว่า โควิด-19 จะมีวันสิ้นสุดลง เมื่อมีข้อมูลเรื่องวัคซีนและการรักษาโรคมากขึ้น จะเกิดจุดตัดระหว่างความกลัวกับความเชื่อมั่นแล้วเศรษฐกิจของเราจะไปได้ดีขึ้น”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พบว่า เอกชนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ชะลอการลงทุน เพราะนักลงทุนรู้ว่า ต้นทุนในการลงทุนขณะนี้ต่ำลง อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3 – 4% ส่วนราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างลดลง 10 – 20%ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อรองรับในช่วงที่เศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะปกติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo