Economics

เปิดเกมขย่มปตท.ปม GPSC ซื้อ Glow ‘แสนล้าน’

พีทีทีจีซี PTTGC ปตท. ไทยออยล์ GLOW

 

เป็นเรื่องร้อนขึ้นมาเมื่อนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561  เพื่อให้ตรวจสอบ การกินรวบของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน แฟรนไชส์กาแฟที่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ

รวมถึงให้ตรวจสอบการที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทที่ปตท.ถือหุ้นใหญ่ กำลังเข้าซื้อหุ้น บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ Glow  จากผู้ถือหุ้น 69.11 %  คาดจะต้องใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท ยุคของ ดร.เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

สำหรับการซื้อหุ้นดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามมาตรา 60 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 และระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

แผน GPSC ซื้อ GLOWv1

ส่ง GPSC เข้าซื้อหุ้น Glow เพื่อ? 

มาดูว่าทำไมปตท.จึงให้ GPSC ซื้อหุ้นล็อตมหาศาลนอกกลุ่มปตท.ครั้งนี้ เนื่องจาก GPSC  จะเข้ามาทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และความเย็น ซึ่งจะเป็นอีกธุรกิจดาวรุ่งของปตท. ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทย และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รวมถึงต่อยอดธุรกิจถ่านหิน ในอินโดนีเซีย ที่ปตท.กำลังดีลอยู่ และเสริมทัพการเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของปตท.ใน 3 จังหวัดในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ต้องเรียกว่าในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง GPSC ไล่ซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าของบริษัทในกลุ่ม และนอกกลุ่มปตท. รวมถึงการจับมือร่วมลงทุนโครงการใหม่ๆ กับพันธมิตร เช่น ร่วมกับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อลุยลงทุนในลาว หรือ ร่วมกับบริษัท Marubeni Corporation และ EDEN Group ผลิตไฟฟ้าป้อนนครย่างกุ้ง เมียนมา

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อสร้างพอร์ตกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ รวมถึงรุกลงทุนเกี่ยวเนื่อง และไม่เกี่ยวเนื่องมากมาย  อาทิ ผลิตไอน้ำและความเย็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือการเข้าไปถือหุ้นใน 24M ในสหรัฐ สัดส่วน 17 % ในบริษัทวิจัยและพัฒนาการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้เป็นระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นการซื้อหุ้นใน Glow  จำนวน 69.11 % จึงไม่เป็นเกินความคาดหมาย

เทวินทร์ วงศ์วานิช
เทวินทร์ วงศ์วานิช

เกิดคำถามเสี่ยงเกินไปหรือไม่

แต่เสียงที่เข้ามาตลอดหลังปตท.แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงดีลนี้ นั่นคือ “เสี่ยงเกินไปหรือไม่” เพราะทราบดีว่า  Glow   มีโรงไฟฟ้าหลัก คือใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี  โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน   และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท.คนก่อน ก็ออกมาระบุว่าที่ บริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโกลว์ ขายหุ้นให้ GPSC เพราะต้องการเปลี่ยนนโยบายสู่ พลังงานหมุนเวียน

การเข้าซื้อหุ้น Glow ครั้งนี้ของ GPSC ในฐานะบริษัทลูกของปตท. เป็นการเข้าซื้อหุ้นใน 2 บริษัทของนั่นคือบริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ 54.16% และบริษัท ENGIE GLOBAL DEVELOPMENTS B.V. ที่ถือหุ้น 14.95% เท่ากับว่าหุ้นที่ GPSC ซื้อจาก Glow รวมแล้วอยู่ที่ 69.11 %

นอกจากข้อครหาว่าผูกขาดในธุรกิจแล้ว การซื้อหุ้นครั้งนี้ ก็มีคำถาม และข้อกังขาเกิดขึ้นมากมาย  แต่ปตท.ก็อยากจะซื้อ เพราะต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น

บริษัทแม่ของ เอ็นจี ต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อให้เป็นไปตามกระแสโลกในปัจจุบัน แต่ปตท.กลับไปซื้อหุ้นบริษัทนี้มา

ตะลึง!เอ็นจีฯ ขายหุ้นออกหวังลดคาร์บอน

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าทำไม  เอ็นจีถึงยอมขายหุ้นออกมากกว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทแม่ในต่างประเทศมีนโยบายต้องการลดคาร์บอนลง  หลังจากบริษัทมีการใช้เชื้อเพลิงอยู่ใน 3 ลักษณะ คือใช้ถ่านหิน ใช้แก๊ส และพลังงานหมุนเวียน Renewable energy

แต่ที่ขายหุ้นให้ปตท. มีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อให้เป็นไปตามกระแสโลกในปัจจุบัน แต่ปตท.กลับไปซื้อหุ้นบริษัทนี้มา เท่ากับไปซื้อสิ่งที่เขาจะไม่ใช้แล้วใช่หรือไม่

การไปซื้อหุ้นครั้งนี้ ได้มีการคิดถึงการใช้เชื้อเพลิงด้วยหรือไม่  หรืออาจจะมองเพียงแค่ต้องการให้มีจำนวนเมกะวัตต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน เพราะการผลิตไฟฟ้าในไทย และลาวขณะนี้ รวมๆ กันแล้วเกือบ 4,000 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ก็มีการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตทั้ง 3 รูปแบบ

“ปตท. ไม่ได้ระบุว่าไปซื้ออะไรมาที่ชัดเจน เพียงแต่บอกในเชิงธุรกิจว่าการซื้อ Glow   ทำให้ปตท.มีความมั่นคงในเรื่องของพลังงานเพิ่มขึ้น”

ข้องใจซื้อหุ้นบริษัทลดใช้ถ่านหิน

ดังนั้นหากพิจารณา จากสาเหตุที่บริษัทแม่ของเอ็นจี ต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์  และยังมีเป้าหมายที่จะลดให้ได้ทั่วโลกที่มีธุรกิจอยู่ประมาณ 14% ในกลุ่มธุรกิจของเขา   แต่สำหรับในเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายจะลดได้เกือบ 20%

ดังนั้นในส่วนของปตท. หากจะมุ่งไปในเรื่องของสิ่งแวดล้อม  ลดปริมาณการใช้พลังงานจากถ่านหินให้น้อยลง ปตท.ก็ไม่ควรไปซื้อบริษัทที่เขาผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ถ้าจะซื้อ ก็ควรซื้อส่วนที่ไม่ได้เป็นถ่านหินใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังเป็นประเด็นที่เกิดข้อสงสัยว่าการซื้อหุ้นครั้งนี้ปตท.ไปเชื้อเพลิงแบบไหนมา

อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งคำถามว่ากำลังผลิตของ GPSC  ตอนนี้ที่ 1,900 เมกะวัตต์ รวมกับ Glow  3,200 เมกะวัตต์ รวมๆแล้วกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ไม่นับรวมโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก  ต้องถือว่าดีลนี้ทำให้ GPSC  กลายเป็นบิ๊กเบิ้ม ในวงการเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน

การเข้าซื้อหุ้นของ GPSC จาก Glow เพราะทางนั้น ต้องการเคลื่อนย้ายไปหาโมเดลธุรกิจใหม่  ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

41505271 2428047927235701 5245103861051424768 n 55 1
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

งานเข้า”ซีอีโอใหม่ ปตท. “

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.คนล่าสุด อธิบายดีลนี้ในวันเปิดวิสัยทัศน์ของเขาต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมาว่า การเข้าซื้อหุ้นของ GPSC จาก Glow เพราะทางนั้นต้องการเคลื่อนย้ายไปหาโมเดลธุรกิจใหม่  ที่ผ่านมาคุยมาหลายเจ้ารวมทั้งกับปตท.ด้วย แต่ทางปตท.เห็นว่า GPSC กับ Glow สามารถ synergy และเชื่อมโยงกันได้อย่างดี  เพราะโรงไฟฟ้าของ Glow ก็อยู่ที่ที่มาบตาพุดใกล้ฐานการผลิตของปตท.

“เราจะมีอำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร เมื่อผู้เล่นในวงการผลิตไฟฟ้ามีกว่า 40 ราย GPSC  และ Glow มีรวมกันแล้วประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ อันดับ 4 หรือ 5 แต่มีเจ้าที่ใหญ่กว่าเราเยอะ กำลังผลิตกว่า 7,000 เมกะวัตต์ แล้วจะมีอำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร และดีลนี้ก็ซื้อขายหุ้นด้วยราคามาตรฐาน ทั้งสองบริษัทก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งคู่ มีกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลอยู่ แต่เราก็พร้อมน้อมรับหากกกพ.จะตัดสินใจว่าอย่างไร”   

 

thumbnail เติมชัย2
เติมชัย บุนนาค

เติมชัย”หวังเพิ่มประสิทธิภาพไฟฟ้า 

 แม้ที่ผ่านมา ดร.เติมชัย บุนนาค   ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  พยายามอธิบายว่า การเข้าซื้อหุ้น   GLOW ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้าให้กับผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลดีทั้งต่อลูกค้า และ GPSC

ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลจากลูกค้าบางส่วนของ GLOW นั้น ทาง GPSC ไม่ได้นิ่งนอนใจ  ที่ผ่านมาได้เร่ง สร้างความเข้าใจว่า การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ลูกค้า GLOW จะไม่ได้รับผลกระทบ

เงื่อนไข สัญญาราคาและการบริการลูกค้าทุกราย จะยังคงดำเนินการภายใต้กรอบสัญญาเดิมทุกประการ  ธรรมชาติของธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นสัญญาระยะยาว มีการระบุถึงราคา ปริมาณซื้อขายที่ชัดเจน 

ส่วนการกำหนดราคาซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาด หรือ บนพื้นฐานของ Arm’s Length Basis ทั้งนี้สัญญาของลูกค้า GLOW ที่มีอยู่เฉลี่ยมีระยะเวลามากกว่า 10 ปี 

ก็ต้องตามลุ้นต่อไปว่าดีลบิ๊กเบิ้มครั้งนี้ จะสะดุดล้มไปไม่เป็นท่าในยามที่การเมืองคุกรุ่น เฉกเช่นทุกครั้ง ที่มีปตท.เป็น “ลูกบอล” ให้ผู้เล่น 2 ทีม หรืออาจมากกว่านั้น 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight