Finance

ธปท.ชี้จีดีพีไตรมาส 2/63 ติดลบ 12.2% น้อยกว่าที่ประเมินไว้!

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้จีดีพีไตรมาส 2/63 ติดลบ 12.2% น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ยันเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” ยังมองจีดีพีปีนี้ติดลบ 8.9%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ติดลบสูงที่ 12.2 % เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือ ติดลบ 9.7 % จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า หดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากการบริโภคภาคเอกชน และ การสะสมสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ แต่ในภาพรวมถือว่า ไม่ผิดจากที่คาดมากนัก โดยยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทย ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และต้องการแรงสนับสนุน ด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ทั้งใน และต่างประเทศ นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการการเงินการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม” นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจ และเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน 2563

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ รายงานจีดีพีไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ หดตัว 9.7% เทียบไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับฤดูกาล ปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจไทย เข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เป็นประวัติการณ์รองจากไตรมาสสองปี 2541 ที่จีดีพีหดตัว 12.5% มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม มองว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มเห็นการขยายตัวแบบช้าๆ ช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนจะปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ที่คาดไว้ติดลบ 8.9% หรือไม่ จะขอรอดูตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน ต้นไตรมาส 3 และนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบกับ ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการชุมนุมประท้วง เป็นปัจจัยที่ให้น้ำหนัก

ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายอมรเทพ จาวะลา

สำหรับปัจจัยการเมือง มีผลต่อเศรษฐกิจผ่านความเชื่อมั่นผู้ลงทุน และผู้บริโภค ในอดีต ช่วงที่ประเทศไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การประท้วง การรัฐประหาร และการเลือกตั้งเศรษฐกิจไทย ไม่ได้รับผลลบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจ และท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ช่วยลดผลกระทบ จากความวุ่นวายทางการเมือง ในกรุงเทพ เสมือน สารเทฟล่อน ที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด วารสารดิอิโคโนมิสต์ จึงเคยเรียกเราว่า เทฟล่อนไทยแลนด์ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า เวลาผ่านไปเนิ่นนานถึงวันนี้ แม้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทะที่เรายังใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย แต่ผมมองว่า สารเทฟล่อนยังใช้การได้ ผมเชื่อในการปรับตัวของเอกชนไทย แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ หรือ การเมือง แต่ถ้าเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่าง เทฟล่อนไทยแลนด์ เศรษฐกิจจะยังคงประคองตัวอยู่ได้

“อยากให้เราใจเย็นๆ ก่อนนะ เพราะการประท้วง หรือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ อาจไม่รุนแรง และ อยู่ในขอบเขต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เพราะผมเชื่อว่า แต่ละคนจะเข้าใจสถานการณ์ และ ปรับตัวได้ ท้ายสุด มาตรการทางการเงิน และการคลัง ก็จะออกมารองรับและ ประคองเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่น่าจะหดตัวแรง ดังเช่นไตรมาส 2 แต่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด” นายอมรเทพ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo