Economics

กฟผ.เปิดทีโออาร์นำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันพ.ย.นี้

แอลเอ็นจี กฟผ.2
ภาพ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กฟผ.เตรียมเปิดทีโออาร์นำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันพฤศจิกายนนี้ ป้อน 2 โรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงโรงไฟฟ้าวังน้อย-บางปะกง ทดสอบระบบเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจี

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบาย และแผนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ของ กฟผ.เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าว่า โครงการนี้กฟผ. ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้นำเข้าแอลเอ็นจี  แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี โดยให้ดำเนินการภายในปี 2561 เพื่อนำก๊าซแอลเอ็นจีไปใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตามที่กพช. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยโครงการนี้คาดว่าจะมีการเปิดทีโออาร์ เพื่อประกาศเชิญชวนหาผู้จัดหาแอลเอ็นจีให้กฟผ.ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยแอลเอ็นจีที่นำเข้าจะไปยังคลังเก็บก๊าซของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ที่กฟผ.ได้รับสิทธิเช่า เป็นระยะเวลา 38 ปี ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดลงในปี 2599 รวมถึงการได้สิทธิใช้ระบบท่อของ ปตท.

โครงการนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตนี้ รัฐบาลให้กฟผ.ดำเนินการนำร่องตามแผนทดสอบการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีโดยบุคคลที่ 3 ของประเทศ (Third Party Access : TPA) จากเดิมที่ให้ปตท.นำเข้าแต่เพียงรายเดียว เพื่อพิจารณาความพร้อมในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น วิธีการบริหารจัดการในการนำก๊าซผ่านท่อ เป็นต้น

โดยกฟผ.เลือกนำเข้าเพื่อใช้ใน 2 โรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย และบางปะกง  เป็นหลัก ดังกล่าว เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพื่อให้การใช้แอลเอ็นจีซึ่งมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติงมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วยไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวม

ส่วนโครงการที่ 2 ที่ให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีกักเก็บและแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแบบลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปีตามมติกพช เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 .และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

โดยเฉพาะการเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งโดยหลักจะต้องนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าในภาคใต้รองรับแนวทางการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ซึ่งอาจใช้ในโรงไฟฟ้าขนอมส่วนขยาย หรือ ใช้ในโรงไฟฟ้าดีเซล ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่หยุดดำเนินการไป ซึ่งมีพื้นที่พร้อมจะเปลี่ยนมาดำเนินการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ใช้แอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งข้อเปรียบเทียบมี 2 ส่วนหลักๆ คือ การเดินท่อก๊าซฯจาก FSRU มายังโรงไฟฟ้า และสายส่งที่จะมารองรับ

ส่วนโครงการ FSRU ในอ่าวไทย  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในพื้นที่ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี  และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังานได้ลงพื้นที่ขนอม จังหวัดครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังความเห็นของแกนนำท้องถิ่น

นายพัฒนา กล่าวถึงอนาคตของกฟผ.ภายใต้ Disruptive Technology ว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร กฟผ. ยังคงทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ให้มีเสถียรภาพ และภายใต้แรงผลักดันต่างเราต้องปรับตัวเพื่อให้ทำหน้าที่นี้ต่อไป

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าในอนาคตต้องมีความยืดหยุ่น (Plant Flexibility) สามารถรักษาระดับการเดินเครื่องที่ลดลงรองรับในช่วงที่มีพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบจำนวนมาก  และสามารถกลับมาเดินเครื่องใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็วเมื่อพลังงานหมุนเวียนลดลง   (Startup)

รวมถึงต้องผสมผสานรูปแบบการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบกักเก็บพลังงานในระดับที่มากขึ้น ส่วนระบบส่งไฟฟ้า ต้องสามารถควบคุมความผันผวนของพลังงานทดแทน และสามารถจัดการพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการนําเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟาอัจฉริยะ หรือ Smart Grid มาช่วยบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่งและจ่ายพลังงานไฟฟ้า และต้องบริหารจัดการ วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

“สิ่งสำคัญที่สุดของเราในการเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ ก็คือ การตัดสินใจต้องเร็วทันเหตุการณ์ และคนต้องมีศักยภาพ ทั้งความรู้และเฉลียวฉลาด เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ”

Avatar photo