The Bangkok Insight

‘วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ 24 มิถุนายน เริ่มต้น ‘ระบอบประชาธิปไตยไทย’

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน  เป็นวันที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย  โดยเหตุการณ์นี้ ทำให้ราชอาณาจักรสยาม เปลี่ยนรูปแบบประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

cover24

เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ “สยาม” มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก

ความเป็นมา วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบก และทหารเรือ ซึ่งทั้งหมดเป็นกองกำลังในพระนคร มารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2,000 นาย ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม

จากนั้นให้ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มีใจความบางตอนว่า 

ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่

กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเข้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กฎขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะได้เห็นจากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน […]

[…] รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวง ไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกลับกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีให้เจ้ากิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คณะราษฎร

คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน […]

[…] ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิป…เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย […]

[…] คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน […]

ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา […]”

ประกาศของ คณะราษฎร ระบุถึงหลักใหญ่ๆ ที่จะกระทำไว้ โดยอ้างว่า เป็นการวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด 

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากที่คณะปฏิวัติได้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เรียบร้อย ก็ได้เชิญเจ้านาย และพระราชวงศ์บางพระองค์ ที่คุมกำลังทหารมากักไว้ โดยให้ประทับอยู่ภายใน พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจมากที่สุด โดยคุมกำลังทหารและพลเรือนของประเทศส่วนใหญ่ไว้ และได้ทูลให้ลงพระนามประกาศที่คณะราษฎรนำมาถวายซึ่งมีข้อความว่า

“ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อ ของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็นเลย”

โดยประกาศของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทางคณะราษฎรได้ทูลให้ลงพระนามนั้น ก็ถูกคณะราษฎรนำประกาศฉบับดังกล่าวไปใช้ เสมือนเป็นคำรับรองจากผู้มีอำนาจสูงสุดขณะนั้น ในการออกคำสั่งให้ส่วนราชการทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งกำลังทหารหัวเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยไม่มีการหยุดชะงักใด ๆ เลย

เมื่อเหตุการณ์ภายในพระนครเป็นไปด้วยดี คณะราษฎรก็ได้ทำหนังสือราชการซึ่งลงนามโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ส่งไปกราบถวายบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และอัญเชิญในหลวงกลับสู่พระนครเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้ร่างขึ้น

สำหรับใจความในหนังสืออัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดังนี้

ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้าย ด้วยประการใด ๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน

คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อจะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น

ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกานับตั้งแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมการวางแผนการของคณะราษฎร

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม

สัญลักษณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ หรือเรียกโดยทั่วไปว่า หมุดคณะราษฎร เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนนบน ลานพระบรมรูปทรงม้า  ด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า

“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด

ในช่วงปีหลังนี้หมุดคณะราษฎรเป็นสถานที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในวันที่ 24 มิถุนายน ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบริเวณนั้น

24 June Rivet

ที่มา : Wikipedia

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo