Economics

ตรวจสอบสิทธิ์ข้าราชการ ‘กรมบัญชีกลาง’ แนะเช็คสิทธิ์ก่อนหาหมอ!

“กรมบัญชีกลาง” เตือนข้าราชการผู้มีสิทธิ์และบุคคลในครอบครัว ให้เช็คสิทธิ์การเบิกจ่ายตรงก่อนเข้ารับการรักษา ลดผลกระทบที่เกิดจากการไม่พบสิทธิ์ในระบบสวัสดิการ

นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดี กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จากทั้งผู้มีสิทธิ์และนายทะเบียนของส่วนราชการต้นสังกัด อาทิ การไม่แจ้งข้อมูลการจดทะเบียนหย่า การออกจากราชการ หรือโอนย้ายหน่วยงานใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่งผลให้ข้อมูล ใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรง สวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการจากข้อมูลบางส่วน มีความคลาดเคลื่อน ในกรณีเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์แล้ว กรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการระงับสิทธิ์ ในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล และเรียกเงินคืน

ตรวจสอบสิทธิ์ข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้ผู้มีสิทธิ์ ตรวจสอบข้อมูลของตนเอง และบุคคลในครอบครัว ก่อนเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบ ที่อาจเกิดจากการไม่พบสิทธิ์ในระบบ โดยสามารถ ตรวจสอบสิทธิ์ข้าราชการ ได้จาก 2 ช่องทาง คือ

  • แอพพลิเคชั่น “CGDiHealthCare” โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบน App Store หรือ Google Play
  • เว็บไซต์ http://pws.cgd.go.th/EFiling/login.jsf

โดยลงทะเบียน ในระบบการยื่นขอรับ บำเหน็จบำนาญ ด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ หากผู้มีสิทธิ์ ตรวจสอบสิทธิ์ข้าราชการ แล้วพบว่า ข้อมูล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือ e-mail address ไม่ถูกต้อง ผู้มีสิทธิ์สามารถปรับปรุง แก้ไข ได้ด้วยตนเอง

หากเป็นการแจ้งข้อมูลการจดทะเบียนหย่า หรือมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ สกุล ขอให้แจ้งนายทะเบียนต้นสังกัด เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง ได้กำหนดรอบ ประมวลผลการขึ้นสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในวันที่ 4 และ 19 ของทุกเดือน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวันและเวลาราชการ

“หากส่วนราชการมีการออกคำสั่งให้ข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ ออกจากราชการ หรือโอนย้ายหน่วยงาน ขอให้ส่งคำสั่งให้นายทะเบียนของส่วนราชการเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และ อัตราค่ารักษาพยาบาล ประเภทผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน สำหรับผู้มีสิทธิ หรือ บุคคลในครอบครัว ที่เสี่ยง หรือ ติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ที่สถานพยาบาลเอกชนได้ โดยผู้มีสิทธิหรือ บุคคลในครอบครัวที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือ มีอาการของโรคปอดอักเสบ หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชน และ แพทย์มีความเห็นว่า เสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและประเภทผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยในเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

1. กรณีติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาล จะครอบคลุมตั้งแต่ สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงสิ้นสุดการรักษา รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วย ไปเข้ารับการรักษา ที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งอื่นที่ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ปฏิเสธการย้ายไปยังสถานพยาบาลเอกชนที่ได้จัดเตรียมไว้ หรือ ประสงค์จะย้ายไปรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชนแห่งอื่น ค่ารักษาพยาบาลภายหลังจากนั้น จะไม่สามารถ ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล จากทางราชการได้

2. กรณีไม่ติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาล จะครอบคลุม ตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงผู้ป่วยได้รับแจ้งผลการตรวจ ที่ยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่า ด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน หลังจากที่ได้รับการยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ ให้เบิกได้ตามหลักเกณฑ์ และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภท ผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560

“สำหรับผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ที่มีประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 หากสิทธิที่ได้รับเงินตามประกันภัยต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในคราวนั้น ผู้มีสิทธิ มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์นี้เฉพาะส่วนที่ขาดอยู่ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 จนกว่าจะมีการยกเลิกหลักเกณฑ์นี้ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุดที่ กค 0416.4/ ว 273 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo