Business

เยียวยา ‘กลุ่มเปราะบาง’ เช็คเลย! ครม.อนุมัติแล้ว 6.78 ล้านคน เดือนละ 1,000 บาท

เยียวยา ‘กลุ่มเปราะบาง’ มาแล้ว  ที่ประชุมครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง “เด็ก-ผู้สูงวัย-คนพิการ” จ่ายเดือนละ 1,000 บาท รวม 3 เดือน ปลัดพม. คาด อาจจ่ายได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ 

วันนี้ (16 มิ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 4 โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  แล้ว โดยในจำนวนนี้ รวมถึง การจ่ายเงิน เยียวยา ‘กลุ่มเปราะบาง’ 3 กลุ่ม

เยียวยา 'กลุ่มเปราะบาง'

การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอมานั้น จะมีกลุ่มเปราะบางรวมทั้งหมด 6,781,881 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นของรัฐ และไม่ซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการของภาครัฐ ประกอบด้วย

  • เด็กจากครัวเรือนยากจน (ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี) จำนวน 1,394,756 คน
  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 4,056,596 คน
  • ผู้พิการ จำนวน 1,330,529 คน

รัฐจะจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงเด็กแรกเกิด เพิ่มเติมจากเบี้ยความพิการ และเพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2.03 หมื่นล้านบาท

เยียวยา ‘กลุ่มเปราะบาง’ อาจได้เงิน มิ.ย.นี้ 

ก่อนหน้านี้ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดพม.  เปิดเผยความคืบหน้า การเสนอจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กแรกเกิด ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยสูงอายุ และผู้พิการที่ได้รับเบี้ยคนพิการ เป้าหมาย 13 ล้านคน ที่กระทบในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ว่า ขณะนี้หลักเกณฑ์ได้ข้อสรุปจาก คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียบร้อยแล้ว

เยียวยา 'กลุ่มเปราะบาง'

โดยกำหนดผู้ที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากสถานการณ์โควิดไปแล้ว ทั้งเงินเยียวยา 5,000 บาท ของกระทรวงการคลัง เงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเงินเยียวยาแรงงานในระบบของสำนักงานประกันสังคม จะไม่ได้รับเงินเยียวยากลุ่มคนเปราะบางซ้ำซ้อน หรือได้เพียง 1 คน 1 สิทธิ์ ทำให้ยอดกลุ่มเป้าหมายปรับลดจาก 13 ล้านคน เหลือครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 6.5 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม รวม 3,000 บาท

ขณะนี้ หน่วยงานในสังกัด พม.ได้สำรวจข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าวแล้ว หาก ครม.อนุมัติจะเข้าสู่ขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินจากกรมบัญชีกลาง คาดว่าน่าจะได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะจ่ายเงินผ่านระบบบัญชีธนาคาร และเงินสด ในช่องทางที่ได้รับสวัสดิการเดิมอยู่แล้ว

ได้เงินกันอย่างไร

รายงานที่ออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง จะดำเนินการจ่ายให้รายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มจากเงินอุดหนุนเดิมที่จ่ายอยู่แล้ว ระยะเวลาในการจ่าย 3 เดือน ตั้งแต่ พฤษภาคม – กรกฎาคม ซึ่งถ้าหากสามารถเริ่มจ่ายในเดือนมิถุนายนได้ ก็อาจจะทบเงินจากเดือนพฤษภาคมไปด้วยในการเริ่มจ่าย

ทำให้กลุ่มเปราะบางดังกล่าวจะได้รับเงินเยียวยารวม 2,000 บาท และเดือนกรกฎาคมอีก 1,000 บาท รวมทั้งหมด 3,000 บาท โดยใช้วงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

จำนวนเงินที่จะได้รับ ถ้ามีการจ่ายเงินเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 

กลุ่มเด็กแรกเกิด

กลุ่มนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” เดือนละ 600 บาท ถ้าหากได้รับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง ก็จะได้รับเงินรวมกัน

  • เดือนมิถุนายน   2,600 บาท
  • เดือนกรกฎาคม 1,600 บาท

กลุ่มผู้สูงอายุ

กลุ่มนี้ปกติจะได้รับเงินช่วยเหลือในโครงการ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จำนวน 600-1,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับอายุ หากได้รับเงินเยียวยาด้วย ก็จะได้รับเงินรวมกันไปเช่นเดียวกัน

  • เดือนมิถุนายน   2,600-3,000 บาท
  • เดือนกรกฎาคม 1,600-2,000 บาท

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้สูงวัยได้ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ ในโครงการเราไม่ทิ้ง รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 งวดแล้วนั้น จะไม่มีสิทธิบเงินเยียวยา 3,000 บาทแต่อย่างใด

กลุ่มเปราะบาง ๒๐๐๖๑๖ 0002

กลุ่มคนพิการ

กลุ่มนี้ปกติจะได้รับเงินช่วยเหลือ “เบี้ยยังชีพผู้พิการ”  800 บาทต่อเดือน หากได้รับเงินเยียวยาด้วย ก็จะรับเงินรวมกับเงินช่วยเหลือเดิมที่ได้อยู่แล้ว

  • เดือนมิถุนายน   2,800 บาท
  • เดือนกรกฎาคม 1,800 บาท

นอกจากนี้ กลุ่มคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการอีก 1.99 ล้านราย จะได้รับเงินอีก 1,000 บาท จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แบ่งเป็น

  • คนพิการ ที่รับเบี้ยความพิการผ่านบัญชีธนาคาร

กรมบัญชีกลางโอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีคนพิการโดยตรง จำนวนกว่า 1,600,000 คน ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

  • คนพิการ ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล และ อบต.) จ่ายเป็นเงินสด ให้กับคนพิการจำนวนกว่า 300,000 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo