Economics

‘กกร.’ คงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ติดลบ 3-5% ห่วงสถานการณ์ว่างงาน!

เศรษฐกิจไทย ปีนี้ติดลบ 3 – 5% ขณะที่ส่งออกคาดติดลบ 5-10% “กกร.” ชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ รับห่วงสถานการณ์ว่างงาน!

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือนมิถุนายน 2563 ว่า ที่ประชุม กกร.ยังคงประมาณการ เศรษฐกิจไทย ปี 2563 ไว้คงเดิม โดยมองว่า เศรษฐกิจไทย อาจจะหดตัวในกรอบ -3 ถึง -5 % และการส่งออกอาจจะหดตัว -5 ถึง – 10 % ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ในกรอบ 0.0-1.5%

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิดในประเทศจะดีขึ้น จนภาครัฐคลายล็อกให้กิจการต่าง ๆ กลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (เฟส 1-3) รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบหลายด้าน ทำให้เครื่องชี้ เศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่กำลังซื้อครัวเรือนที่อ่อนแอและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

เศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลก ที่อยู่ในภาวะถดถอย อีกทั้งยังมีความเสี่ยง จากสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐและจีนที่ปะทุ ขึ้นอีกรอบ ทำให้การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจไทย จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ หรือ ก่อนโควิด และคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ดังนั้น สถานการณ์การว่างงานในประเทศ จึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล ซึ่งที่ประชุม กกร. เห็นว่า ภาครัฐ ควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้น โครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และ ฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างงานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมองว่า ควรเร่งผลักดัน การใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท ให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จะมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ให้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ จึงเห็นว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหารือ และบริหารจัดการให้เงื่อนไขต่างๆ ของการปล่อยสินเชื่อ ในทางปฏิบัติมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น อาจให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปี ตาม พ.ร.ก. (โครงการ PGS-9)

อย่างไรก็ตาม กกร. มีข้อสรุปในเรื่องข้อตกลง CPTPP โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจา กับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจา ทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อ การเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

กกร มิ.ย. 63 ๒๐๐๖๑๐ 0001

ขณะเดียวกัน ต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ กกร.เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN

นอกจากนี้ ภายใต้สภาวะแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของ “โควิด” และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สร้างความท้าทาย ต่อทิศทางเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจในช่วงข้างหน้า การกลับมาพึ่งพาแรงขับเคลื่อน จากปัจจัยภายในประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน กกร. จึงเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้มีเวทีสำหรับการหารือ นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19, การขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นต้น

ส่วนปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย กกร.มีความเป็นห่วง และขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้ง เร่งดำเนินโครงการ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ ต่อความต้องการ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo