Politics

‘นายกรัฐมนตรี’ ประกาศกลางสภา! จะใช้เงิน 8.8 หมื่นล้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“นายกรัฐมนตรี” แจงร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 จำนวนกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบ “โควิด” ยันจะใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ พ.ศ. … วงเงิน 88,452,597,900 แต่ปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คนในคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ นี้ เพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยงานต่าง ๆ ไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่าย งบกลาง กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวนกว่า 88,000 ล้านบาท เนื่องจากงบกลางที่มีอยู่ 96,000 ล้านบาทไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องนำงบประมาณในส่วนนี้มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด -19 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณพ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่นโดยรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินภารกิจเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ทันต่อสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“กฎหมายฉบับนี้มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งทำให้การบริหารงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 63 มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” นายกรรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณและรายการที่นำไปจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ ประกอบด้วย รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่เบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เมษายน 2563 อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ การจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เมษายน 2563 หรือไม่สามารถลงนามได้ทันภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 รายการที่สามารถชะลอการดำเนินการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563 ทั้งนี้ คำนึงถึงการบริหารงบฯรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 63

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายที่นำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ จำแนกเป็น งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 39,893,111,100 บาท / งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 13,256,486,800 บาท และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 35,303,000,000 บาท

“หวังว่าสมาชิกทุกคนจะให้การสนับสนุน และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้นำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนสืบไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ…. ในวันนี้ (4 มิ.ย.) ว่า เป็นวาระพิเศษ ซึ่งผู้ควบคุมเสียงของทั้งสองฝ่าย ได้หารือกัน และแจ้งให้ตนทราบว่าจะกำหนดกรอบเวลาอภิปราย 10 ชั่วโมง แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการหารือในเบื้องต้น แต่ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ และก็เป็นไปได้ที่จะพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันนี้ เพราะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หากมีแปรญัตติไปเลย ก็จะยืดเยื้อมาก ดังนั้น จึงให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเพื่อให้การประท้วงลดน้อยลง

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้อาจจะไม่มีการประท้วงกันมากเหมือนการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินที่ผ่านมาใช่หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ครั้งที่แล้ว เป็นเรื่องของพระราชกำหนด จึงเปิดโอกาสให้ เนื่องจากพระราชกำหนดเกี่ยวข้องหลายเรื่อง และบางเรื่องอาจจะนอกประเด็น รวมทั้งอยู่ใน 3 วาระ จึงได้ปล่อยให้อภิปรายอย่างเต็มที่ ยกเว้นการที่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคายก็จะเตือนกัน

Avatar photo