Politics

ลดภาษีที่ดิน 90% โบรกฯ ชี้ไม่ช่วยหนุนภาคอสังหาฯ หลังปัจจัยอื่นกดดันเพียบ!

ลดภาษีที่ดิน 90% นักวิเคราะห์ประเมินยังไม่จูงใจต่อการตัดสินใจของผู้ซื้ออสังหาฯ เหตุยังมีปัจจัยกดดันทั้งสถานการณ์โควิด-เกณฑ์ LTV-แบงก์คุมเข้มสินเชื่อ

ลดภาษีที่ดิน 90% : บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ลดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% เฉพาะในปี 2563 เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยชำระภาษีภายในเดือนสิงหาคม 2563 มองเป็นกลางต่อ 2 กลุ่ม คือ

1. ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ : เนื่องจากวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีประกาศใช้ พ.ร.ก.ปรับลดภาษีลง 90% สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่เกิน 3 ปี และสต็อกเหลือขายในปี 2020 – 2021 อยู่แล้ว ขณะที่จะเป็นผลดีในส่วนของที่ดินว่างเปล่าซึ่งมีอัตราการเก็บภาษีสูง 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุกๆ ปี อย่างไรก็ดี เป็นการปรับลดเพียงปีเดียว และปัจจุบันผู้ประกอบการมักไม่ถือที่ดินไว้นาน

2. ผู้ซื้ออสังหาฯ : แม้มีการลดภาษีเพิ่มเป็น 90% จาก 50% ใน พ.ร.ก.ที่ประกาศในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ยังไม่มากพอที่จูงใจต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ อัตราการเก็บภาษีค่อนข้างต่ำ อาทิ บ้านหลังหลักไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับยกเว้นภาษี และบ้านหลังที่ 2 ไม่เกิน 50 ล้านบาทเก็บภาษีอัตราเพียง 0.02%

ลดภาษีที่ดิน

ขณะที่ ปัจจัยที่กดดันหลักยังมาจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงเกณฑ์ LTV ใหม่ และการเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินส่งผลให้มาตรการที่ครม.มีมติออกมายังไม่จูงใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมครม.วานนี้ (2 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลด 90% (พ.ร.ฏ.ลดภาษีที่ดินฯ) โดยจะใช้เฉพาะปี 2563 ก่อน เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า หากจัดเก็บเต็มอัตราตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 อาจกระทบกับทำให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนในช่วงนี้

นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาษีรายได้ภาษีต่อไปในอนาคต รวมทั้งเห็นชอบการขยายเวลาชำระภาษีภายในเดือนเมษายน 2563 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ส่วนท้องที่และท้องถิ่นที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณที่จะต้องเก็บภาษีมาใช้จ่าย จะมีการหารือมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป

ลดภาษีที่ดิน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ในอัตรา 90% ปีภาษี 2563 ที่ให้ใช้เฉพาะปี 2563 นั้น เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ มีการคิดภาษีเป็นขั้นบันได และจัดเก็บตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาจัดสรร หรือขาย จะได้ลดภาษี 90% ไม่เกิน 3 ปี เป็นต้น ดังนั้น หากประกาศใช้ตามเงื่อนเวลาที่วางไว้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไปได้

สำหรับ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 นั้น ผู้เสียภาษีจะชำระภาษีในปี 2563 เท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 25% ของภาระภาษีส่วนเพิ่ม จากนั้นในปี 2564 จะชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 50% ของภาระภาษีส่วนเพิ่ม ตามด้วยในปี 2565 จะชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 75% ของภาระภาษีส่วนเพิ่มเสีย และในปี 2566 ผู้เสียภาษีจะเสียภาระภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เต็มจำนวน

ทั้งนี้ การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% เป็นไปตามมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 สำหรับที่ดินและหรือสิ่งปลูกสร้าง 10 ประเภท

อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้วพบว่า จะมีผลกับที่ดินของโครงการจัดสรรบ้าน คอนโดมิเนียม ที่ได้รับอนุญาตไม่เกิน 3 ปี และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของหน่วยงาน รวมถึงที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนเอกชน

Avatar photo