General

สผ. เน้นหลักธรรมาธิบาลกำกับ ‘รายงาน EIA’ หนุนพัฒนายั่งยืน

สผ. เปิดตัวเลขรอบ 12 ปี ลงโทษนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำ EIA ไปแล้วกว่า 30 ราย ตอกย้ำมาตรฐานกำกับดูแล ภายใต้หลักธรรมาภิบาล มุ่งขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  เป็นเครื่องมือสำคัญในการคาดการณ์ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชน จากการพัฒนาโครงการ

339510

ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ผู้ที่จัดทำรายงาน EIA จะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต โดยมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ “คชก. ผู้มีสิทธิ” เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาต เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารายงานที่จัดทำมีคุณภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ

ผู้มีสิทธิทำรายงานหรือที่ปรึกษา จะต้องทำการศึกษา / วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบ ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ ก่อนเสนอเล่มรายงานต่อหน่วยงานอนุญาต และ สผ. มีการพิจารณารายงานโดย คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ “คชก. พิจารณารายงานฯ” ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากรายงาน EIA มีความครบถ้วน และเป็นไปตามหลักวิชาการ และมีมาตรการเพียงพอ คชก. พิจารณารายงานฯ จะให้“ความเห็นชอบ” ต่อรายงาน ซึ่งเจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการจะสามารถนำรายงาน EIA ไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างหรือดำเนินการได้

แต่หากรายงาน EIA ไม่ครบถ้วนหรือไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ และมีมาตรการยังไม่เพียงพอ คชก. พิจารณารายงานฯ จะ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ต่อรายงาน ซึ่งผู้มีสิทธิทำรายงานและเจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการแก้ไขรายงานต่อไป

ทั้งนี้ หากพบว่าผู้มีสิทธิทำรายงานได้ดำเนินการ หรือจัดทำรายงานที่ไม่มีคุณภาพ “คชก.พิจารณารายงานฯ” , ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนหรือแจ้งมายัง สผ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดย “คชก. ผู้มีสิทธิ” ซึ่งมีมาตรการ “การกำกับดูแล และบทลงโทษตั้งแต่เบาไปหาหนัก

มาตรการกำกับดูแลกรณีจัดทำรายงานไม่มีคุณภาพ

  • รายงานมีข้อมูลผิดพลาด และมีข้อบกพร่อง แต่ไม่มีผลต่อการพิจารณาหรือการกำหนดมาตรการ จะถูกบันทึกเป็นข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาขอรับ ในรอบต่อไป
  • รายงานมีข้อมูลผิดพลาด และมีข้อบกพร่อง แต่ไม่มีผลต่อการพิจารณาหรือการกำหนดมาตรการ ไม่ทำให้การคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผิดไปจากความเป็นจริง แต่ต้องมีการแก้ไขหลายครั้งในหลายประเด็น เป็นต้น จะดำเนินการแจ้งกำชับ หรือตักเตือน ซึ่งอาจมีผลถึงขั้นลดอายุใบอนุญาตในรอบต่อไป
  • รายงานมีผลต่อการพิจารณา หรือทำให้การคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผิดไปจากความเป็นจริง แต่มิได้ตั้งใจ จะเข้าข่าย “การจัดทำรายงานประมาทเลินเล่อ”
    จะถูกพักใช้ใบอนุญาต 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี
  • ทำรายงานเท็จ ตั้งใจปกปิดข้อมูล และได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งมีผลต่อการพิจารณา หรือทำให้การคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผิดไปจากความเป็นจริง เป็นต้น จะเข้าข่าย “การจัดทำรายงานเป็นเท็จ” จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน สผ. ได้ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และลงโทษนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงานในกรณีต่างๆ ไปแล้วกว่า 30 ราย จึงมั่นใจได้ว่า สผ. มีกระบวนการพิจารณา และการควบคุมกำกับดูแลผู้มีสิทธิทำรายงาน โดย“คชก. ผู้มีสิทธิ” ซึ่งมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล

Avatar photo