Finance

BAY คาดกนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 0.50% เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ!

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.90-32.25 บาท/ดอลลาร์ คาดที่ประชุม “กนง.” ปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 0.50% เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.90-32.25 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.07 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.31 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 6.0 พันล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัสโควิด แต่ปฏิเสธที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และระบุว่าเฟดสนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า อาทิ การส่งสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) และโครงการซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก (QE)

fig 05 10 2019 03 25 17

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกและความเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงประเมินทิศทางกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด โดยล่าสุดประธานเฟดได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ว่าอัตราการว่างงานอาจแตะระดับ 25% ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลังและเศรษฐกิจอาจหดตัว 20% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่เฟดยังไม่หมดกระสุนและพร้อมที่จะขยายมาตรการที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มมาตรการใหม่ๆ เราคาดว่าท่าทีเช่นนี้อาจช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงต้นสัปดาห์ แต่ประเด็นความไม่แน่นอนข้างต้นโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงส่งผลให้การลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่วนเงินบาทอาจผันผวนตามราคาทองคำที่เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 8 ปี

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์ฯ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1 หดตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและหดตัว 2.2% เทียบรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าจีดีพีปี 2563 จะหดตัว 5.0-6.0% และมูลค่าส่งออกลดลง 8.0% ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค.คาดว่าจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 0.50% เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ขณะที่นโยบายการเงินที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป

Avatar photo