Politics

‘ศบค.’ เผยคนไทยเริ่มย่อหย่อนป้องกันไวรัส ‘ล้างมือ-อยู่ห่างกัน 2 เมตร’ น้อยลง

ศบค.” เผยภาพรวมคนไทยให้ความร่วมมือป้องกันไวรัสโควิด-19 ลดลงจาก 78% เหลือ 73% โดย “ล้างมือ-อยู่ห่างกัน 2 เมตร” น้อยลง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวผลการประชุม ศบค. วันนี้ (17 พ.ค.) ว่า จากการศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสำรวจพฤติกรรมประชาชนหลังจากมีมาตรการผ่อนปรน โดยเทียบระหว่างช่วงวันที่ 23-30 เมษายน 2563 กับ 14-18 พฤษภาคม 2563 พบว่า ตัวเลขความร่วมมือต่ำลงทั้งสิ้นพฤติกรรมโดยรวมลดลงจาก 77.6% เหลือ 72.5%

สวมหน้ากากอนามัยลดลงจาก 91.2% เหลือ 91%, ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ จาก 87.2% เหลือ 83.4%, กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง จาก 86.1% เหลือ 82.3%, ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร จาก 65.3% เหลือ 60.7% และการไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก จาก 62.9% เหลือ 52.9%

ขณะที่ผลการตรวจกิจการ/กิจกรรมประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ตรวจไปทั้งสิ้น 20,204 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการ 20,153 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ไม่ครบ 51 กิจการ/กิจกรรม ไม่พบการกิจการ/กิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตาม

c1f1ece3 6fb0 4ea0 87ba c5b9d96dbdc1

เมื่อถามว่าหากการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 ดีขึ้น จะมีการพิจารณาไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหันมาใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อแทนได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการ ศบค. ได้มอบให้คณะกรรมการด้านกฎหมายไปศึกษา ถ้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีการนำเสนอขึ้นมา

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมาเป็นการรวบรวมกฎหมายต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เกิดมาตรการดูแลสังคมในสถานการณ์โรคที่รุนแรง แต่ตอนนี้ในประเทศเราควบคุมโรคได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ยังมีประเด็น เช่น ขณะนี้เราห้ามเครื่องบินเข้าถึง 30 มินายน 2563 ถ้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะใช้สามารถประมวลกฎหมายตัวใดมาแทน ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายหลายด้านประกอบกันเพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศและการควบคุมเชื้อให้อยู่ในการดูแลได้ทั้งหมด

“ตรงนี้จึงมีความจำเป็น ถ้าจะยกเลิก แต่สถานการณ์ของโลกยังมีการติดเชื้ออยู่จำนวนมาก เราต้องดูกันอย่างลึกซึ้งและใช้เวลาพอสมควร ถ้าไทยดีขึ้น ทั่วโลกดีขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็น แต่สถานการณ์โลกยังมีการระบาดจึงยังมีความจำเป็น ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมายจะต้องไปศึกษามาว่า มีกฎหมายอะไรทดแทนได้ เพื่อสรุปความเห็นนำเสนอต่อ ผอ.ศบค.ต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Avatar photo