Economics

‘ทวารัฐ’ เปิดใจปมบริหารเงินกองทุนอนุรักษ์

 

S 8519697

การโจมตีถึงความไม่โปร่งใสการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีเงินถึง 41,874.24 ล้านบาท (ณ 31 ก.ค. 61) เกิดขึ้นมาโดยตลอด กระทั่งมีการแก้ข้อครหาด้วยการ รื้อโครงสร้างการบริหารกองทุนฯ ในยุคของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานว่า ด้วยการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2560

หัวใจสำคัญเป็นการ แยกอำนาจสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย ออกงานธุรการของกองทุนฯ ว่ากันง่ายๆ คือ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่รับข้อเสนอขอใช้เงินจากกองทุนฯ และเบิกจ่ายเงิน ให้สนพ.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนโยบาย ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนฯเท่านั้น

พร้อมให้ตั้ง สำนักงานบริหารกองทุนฯ มีผู้จัดการกำหนดวาระ 4 ปีขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนฯทั้งหมด นอกจากนี้ ยังให้การยื่นขอใช้เงินกองทุนฯ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจากเดิมเป็นกระดาษ และให้เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2562 เป็นต้นไป

การเคลียร์ทุกอย่างให้โปร่งใสน่าจะทำให้การบริหารกองทุนฯไปได้อย่างราบรื่นไร้ข้อครหา แต่ไม่นานก็เป็นเรื่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระเบียบเดิม เป็นระเบียบปี 2560 ก็มีอันที่รัฐบาลนำงบประมาณ กองทุน ปี 2561 (เพิ่มเติม) ไปสนับสนุนโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” วงเงิน 5,200 ล้านบาท เมื่อ “งานงอก” ทำให้การเปิดรับข้อเสนอโครงการของปี 2561 และปี 2562 ที่ตั้งวงเงินไว้ 9,148 ล้านบาทมาชนกันเข้าอย่างจัง เป็นชนวนของข้อร้องเรียนตามมา

 

S 8519694555

ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการบริหารจัดการกองทุนฯในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า ที่ผ่านมามีการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้มีความเหมาะสม และความโปร่งใสมากขึ้นตามลำดับโดยออกระเบียบใหม่ ปี 2560 ให้มีสำนักงานบริหารกองทุนฯเข้ามารับผิดชอบงานบริหารกองทุนฯทั้งหมด จากเดิม สนพ.และกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการรับข้อเสนอโครงการในแต่ละปี  และรวบรวมเข้าสู่คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จัดสรรเงินกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ

ขณะเดียวกัน กระบวนการอนุมัติโครงการที่รัดกุมก็ยังคงอยู่ แต่ละโครงการจะได้รับเงินจากกองทุนฯต้องผ่านถึง 3 ด่านตามลำดับ ประกอบด้วย

คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

และคณะกรรมการกองทุนฯที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่ออนุมัติขั้นตอนสุดท้าย

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ตรงที่มีนโยบายเปิดรับข้อเสนอตามงบประมาณ ปี 2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้ “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” มาชนกับช่วงระยะเวลาเปิดรับข้อเสนอตามงบประมาณปี 2562  และแนวทางการขอใช้เงินกองทุนฯตามงบประมาณ ปี 2561 (เพิ่มเติม)  ดร.ทวารัฐ บอกว่า กว่าจะลงตัวก็เข้าล่วงเข้าเดือนมิถุนายน 2561

กำหนดให้การยื่นขอใช้เงินกองทุนฯต้องเป็นโครงการภายใต้กรอบ 4 ด้านเท่านั้น

  1. โครงการผลิตไฟฟ้าใช้ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนในชนบท
  2. ส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการทำเกษตร
  3. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในงานสาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
  4. ติดตั้งหลอดประหยัดพลังงาน LED ของรพ.สต.ทดแทนหลอดเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำ

ขณะที่การดำเนินงานใช้เงินกองทุนฯตามงบประมาณ ปี 2562  จะต้องเริ่ม 1 ตุลาคม 2561 นั่นหมายถึงกระบวนการที่จะเข้าสู่คณะทำงานกลั่นกรองฯ  จะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำโครงการที่เสนอขอใช้เงินเข้าคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการกองทุนฯภายในเดือนกันยายน 2561

“ความจริงแล้วต้องทำปี 2561 ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเริ่มปี 2562 แต่ตอนนี้ต้องทำคู่กันไป  ทั้งสองโครงการเพิ่งปิดรับคำขอไปพร้อมกันเมื่อ 10 สิงหาคม 2561 ทุกอย่างเร่งรัด เพื่อให้กระบวนการแล้วเสร็จตามกำหนด”

ดร.ทวารัฐ ระบุว่า เมื่อเวลากระชั้นชิด ประกอบกับมีโครงการยื่นขอเข้ามานับพันโครงการ เฉพาะในปี 2562 ที่ให้ยื่นขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีโครงการยื่นเข้ามาถึง 956 โครงการจาก 343 หน่วยงาน ส่วนปี 2561 ที่ส.กทอ. ดูแลรับผิดชอบ ยังใช้ระเบียบเก่ายื่นโครงการเป็นกระดาษซึ่งตนเองยังไม่มีตัวเลข เพราะแยกกันทำงาน

เขาเล่าต่อว่า การขอใช้เงินกองทุนฯของทั้ง 2 ปี ใช้ระเบียบต่างกัน บวกกับเวลาที่งวดเข้ามา การให้ส.กทอ.ทำงานเพียงลำพังขณะที่เพิ่งเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ ความโกลาหลย่อมเกิดขึ้นแน่นอน และงานอาจไม่แล้วเสร็จตามกำหนด เป็นเหตุให้สนพ.ต้องเข้ามาช่วยงานธุรการในปี 2562 ซึ่งผู้บริหารกระทรวงก็เห็นด้วย และ ให้แยกการทำงานออกเป็น 2 ทีม

S 8519697999

 การทำงานของผมต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์  ไม่อยากให้ใครมาตำหนิกองทุนฯ เลยเป็นที่มาว่าให้สนพ.เข้ามาช่วยช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ผมกลับถูกโจมตี  

ทีมหนึ่ง สนพ.ทำหน้าที่รับข้อเสนอของงบประมาณ 2562 เพื่อเข้าสู่คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองฯ ที่มีปลัดกระทรวง เป็นประธาน และทีมสอง มี ส.กทอ.เป็นรับข้อเสนอของงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) เสนอต่อคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองที่มี นายยงยุทธ์ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน หลังจากกลั่นกรองในเบื้องต้นแล้วทั้งหมดจะต้องไปที่คณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ตามลำดับ

“การทำงานของผมต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และไม่อยากให้ใครมาตำหนิกองทุนฯ เลยเป็นที่มาว่าให้สนพ.เข้ามาช่วยงานช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ผมกลับถูกโจมตี ” ดร.ทวารัฐ อธิบายอย่างอ่อนใจ พร้อมย้ำว่า  ส.ทกอ.เป็นหน่วยงานใหม่ ยังไม่มีบุคลากรเพียงพอ งานก็เร่งรัดขึ้น หลายฝ่ายในกระทรวงพลังงานจึงเห็นว่าสนพ.ต้องเข้ามาช่วย

“สนพ.ดูเฉพาะปี 2562 ไม่ได้ดูปี 2561 (เพิ่มเติม) ดังนั้นใครมายื่นขอในปี 2561 บ้าง  ผมไม่รู้เรื่องเลย และสนพ.รวมถึงส.ทกอ.ก็ทำหน้าที่เพียงฝ่ายธุรกิจรับคำขอเพียงอย่างเดียว ส่วนการกลั่นกรองจะให้โครงการไหนหรือไม่เป็นเรื่องของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ ” ดร.ทวารัฐ ย้ำ

พร้อมบอกว่า เราพร้อมถอนจากงานบริหารกองทุนฯทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการรับคำขอใช้เงินกองทุนตามงบประมาณ 2562 และนำคำขอทั้งหมดให้คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองฯเรียบร้อย และหลังจากนี้ส.ทกอ.ก็จะมีบทบาทเต็มตัวในการทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ รวมถึงติดตามประเมินผลโครงการ

S 85196990000

เขา ย้ำในตอนท้ายว่า การขอใช้เงินกองทุนฯจะต้องเป็นไปตามกรอบการใช้เงิน ตามพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และระเบียบฯในปี 2560 แต่ยอมรับว่ามีทั้งโครงการใช้เงินกองทุนฯแล้วประสบผลสำเร็จ ซี่งมีเป็นจำนวนมาก แต่บางโครงการก็ไม่สำเร็จ ซึ่งมีน้อยกว่า เพราะบางเรื่องถูกศึกษาบนห้องปฏิบัติการมาอย่างดี แต่เมื่อลงสู่การปฏิบัติทำไม่ได้ผล  ที่ผ่านมาก็จะมีการเรียนรู้ และนำไปบทเรียนในการวางกรอบอนุมัติโครงการในปีต่อๆไปให้รัดกุมมากขึ้น

การติดตามตรวจสอบการใช้เงินกองทุนฯ จะยังคงมีต่อไปตราบใดที่เงินทุกบาททุกสตางค์ของกองทุนฯ ที่มีหลายหมื่นล้านบาทมาจากการเก็บเงินจากน้ำมันทุกลิตร ที่ถูกบวกเข้าไปในราคาขายน้ำมันที่ประชาชนรับภาระอยู่  จึงถูกคาดหวังว่าการใช้เงินจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการนำไปใช้เพื่อทำโครงการช่วยลดการใช้น้ำมัน และประหยัดพลังงาน นำผลประโยชน์คืนต่อประชาชนและประเทศ มิใช่เป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้ตามใจชอบ

Avatar photo