General

สิ้น ‘ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย’ หญิงแกร่ง ตำนานวงการโรงแรมโลก

ข่าวเศร้าของวงการโรงแรม จากการสูญเสียครั้งใหญ่ กับการจากไปของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” หญิงเหล็กผู้บุกเบิก “ดุสิตธานี” โรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของไทย เมื่อ 50 ปีก่อน ที่กลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งถนนสีลม และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วย

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เสียชีวิตในช่วงเย็นวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ด้วยวัย 99 ปี โดยมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) ที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ระหว่างที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมการโรงแรม และท่องเที่ยวนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ให้เป็นบุคคลเกียรติยศผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและโรงแรมโลก โดยเป็นสุภาพสตรีหนึ่งเดียวที่ขึ้นทำเนียบเทียบชั้นตำนานผู้ยิ่งใหญ่ของวงการอย่าง “เอเดรียน เซก้า” เจ้าของเครือโรงแรม Aman Resorts ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมโรงแรมในเอเชีย “เซอร์ไมเคิล คาดูรี” ผู้ก่อตั้งโรงแรมเพนนินซูล่า อายุเก่าแก่ 100 ปี และ “โรเบิร์ต ก๊วก” แห่งเครือแชงกรีลา
จุดเริ่มต้น ‘ดุสิตธานี’

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เริ่มก่อสร้างในปี 2509 เกิดจากแรงบันดาลใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐ โดยก่อนกลับเมืองไทยได้ขับรถตระเวนท่องเที่ยวและพักตามโมเต็ลต่าง ๆ ทำให้คิดว่าธุรกิจโรงแรมคงเป็นอาชีพอิสระ เพราะเวลาไปพักแต่ละแห่งไม่เคยพบเจ้าของโรงแรมหรือผู้จัดการเลย

“ชนินทธ์ โทณวณิก” บุตรชายคนโตของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เล่าว่า ท่านผู้หญิงอยากสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวของคนไทย ที่ได้มาตรฐานสากลจริงๆ และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่การทำโรงแรมขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และเนื่องจากเงินทุนไม่พอ กลุ่มเพื่อนสนิทจึงช่วยกันลงทุน เป็นเหตุให้ดุสิตธานีเป็นบริษัทแรกๆของไทยที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ที่ตลาดเปิดทำการในปี 2518

exterior shot 600x462 1

ก่อนจะมาเป็นโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งอยู่ระหว่างรีโนเวตครั้งใหญ่ เพื่อก้าวสู่ความยิ่งใหญ่และทันสมัยมากขึ้นตามกระแสของธุรกิจในปัจจุบันนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ มีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว และมั่นใจว่า วิธีการที่จะผลักดันให้ไทยประสบความสำเร็จในเวทีโลก คือ การสร้างโรงแรมที่มีความโดดเด่น และดีที่สุด ตามมาตรฐานสากลที่กลมกลืนไปกับรายละเอียดของการตกแต่ง และการให้บริการที่ยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นหลัก

จากความเชื่อส่วนตัวดังกล่าว ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นความเชื่อของชาวดุสิต 4 ประการ ได้แก่ มีความกล้าที่จะทำสิ่งที่ยิ่งไหญ่ การสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน การทำให้ดีที่สุด และการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ความฝันอันยิ่งใหญ่ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ เป็นความจริงขึ้นมาในปี 2513 ซึ่งเป็นปีที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ก่อกำเนิดจุดเริ่มต้นของตำนานการโรงแรมไทย ไม่ว่าจะในด้านของการเป็นโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศ (ในเวลานั้น) และเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรามีระดับ สำหรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลายเป็นต้นแบบของโรงแรมหรูระดับห้าดาว ในกรุงเทพฯ ให้กับโรงแรมอื่นๆ และยังเป็นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทในการขยายกิจการไปทั่วประเทศ และขยายออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งต่อมายังเป็นโรงแรมต้นแบบที่เปิดโอกาสให้ท่านผู้หญิงได้บรรลุความฝันในการสร้างโรงเรียนการโรงแรม เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนให้กับอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

w644

สาเหตุที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เลือกชื่อ “ดุสิตธานี” มาเป็นชื่อของโรงแรม และชื่อของบริษัท เนื่องจากเป็นคำไทยที่ออกเสียงง่าย มีความหมายที่เป็นมงคล คือ แดนสวรรค์ชั้นดุสิต (หรือสวรรค์ชั้น 4) และยังเป็นนามมงคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานเรียกเมืองจำลองต้นแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2461

ดังนั้นชื่อ ดุสิตธานี จึงบ่งบอกถึงการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับมาตรฐานของตะวันตกได้อย่างกลมกลืน ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับความปรารถนาของท่านผู้หญิงที่จะสร้างโรงแรมที่มีระดับมาตรฐานสากล ที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมไทยอันอ่อนน้อม และงดงาม และโดดเด่นมีเอกลักษณ์

ประวัติโดยย่อ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย”

วันเกิด

  • 15 พฤษภาคม 2467

วุฒิการศึกษา

  • อนุปริญญาตรีเตรียมธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 4
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ (นิด้า)
  • ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม (ศรีปทุม)
  • ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (มหิดล)

อาชีพ

  • นักธุรกิจ

สถานที่ทำงาน

  • โรงแรมดุสิตธานี

ประสบการณ์

  • สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2516

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
  • ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย  (ท.ช.)
  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

Avatar photo