Politics

แนะเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้ถ่ายคลิปเป็นผู้ช่วยเหลือ!!

br
ภาพจากเฟซบุ๊ค นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการถ่ายคลิปเผยแพร่ภาพก่อนเกิดเหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของผู้ที่กำลังอยู่ในอารมณ์คับขันในชีวิต เช่นกรณีการกระโดดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษากระโดดอาคารเรียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่ควรเรียนรู้และสร้างสรรค์ทำความเข้าใจก่อนที่จะบานปลาย หรือกลายเป็นความเคยชิน หรือภาคภูมิใจว่าเป็นคนที่เห็นก่อนใคร ซึ่งการถ่ายคลิปและแชร์ส่งต่อกัน อาจจะเป็นการซ้ำเติมผู้ที่ทำร้าย และจบชีวิตของตัวเองรวมทั้งครอบครัวด้วย แต่อีกมุมหนึ่งที่อยากให้สังคมเปลี่ยนความคิดจากการคอยบันทึกภาพนาทีแห่งชีวิตของคนอื่นที่เราเป็นผู้เห็นก่อน เป็นการให้ความช่วยเหลือชีวิตเขาแทน เนื่องจากภาวะตึงเครียดทางจิตใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากหลายเรื่องทั้งจากการดำเนินชีวิต การแข่งขัน การขาดภูมิคุ้มกันทางใจ ปัญหาสุขภาพต่างๆ เมื่อรุมเร้าเข้ามาในชีวิตมากมาย บางคนหาทางระบายปัญหาออกไม่ได้ จึงสะสมกลายเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จนถึงขั้นที่เรียกว่า มืดแปดด้าน และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ที่คนปกติไม่ทำกัน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การที่คนคนหนึ่งยืนบนระเบียงตึก หรือนั่งเหม่อลอยอยู่บนราวสะพานคนเดียว หรือปีนขึ้นที่สูงๆ ถือว่าเป็นพฤติกรรมแสดงออกของผู้ที่เกิดวิกฤตปัญหาทางจิตใจที่หาทางออกชีวิตไม่ได้ และเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือประการหนึ่ง เมื่อพบเห็นผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ขอให้รีบให้ความช่วยเหลือแทน สามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยวิธีการเดินเข้าไปหาและพูดคุยสอบถามด้วยท่าทางยิ้มแย้ม เหมือนการทักทายกันตามปกติทั่วไป โดยไม่ต้องกลัวว่าเราจะไปกระตุ้นให้เขาตัดสินใจทำร้ายตัวเองเร็วขึ้น ประการสำคัญคือ อย่าไปผลีผลามไปจับฉุดรั้งตัว เพราะอาจทำให้เขาตกใจได้ การได้ชวนพูดคุยแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1 – 5 นาที ก็มีความหมายมาก เป็นการชะลอ จะทำให้ผู้ที่กำลังคิดสั้นมีอารมณ์ซึ่งมักเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ให้เย็นลงและได้สติขึ้นมา เขาก็จะเลิกคิดทำร้ายตัวเอง ภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้จะไม่ได้บันทึกลงในโลกโซเชียล แต่มันจะอยู่ในโลกของสวรรค์คือ มีความสุขปีติใจ ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้รอดชีวิตตลอดไป

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารขณะนี้ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟน และกลายเป็นผู้สื่อสาร สื่อข่าวและรับข่าวรอบด้าน สิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวังและต้องช่วยกันสร้างความตระหนักก็คือ ไม่ควรนำเสนอและแชร์ภาพเหตุการณ์คนทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชนิดสดหรือภาพนิ่ง เพราะ จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ทำให้คนที่กำลังอยู่ในอารมณ์ชั่ววูบเกิดการกระทำเลียนแบบ (Copycat) ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอวิธีการ รายละเอียด สิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมคือ การช่วยชี้แนะทางออกของชีวิต เพราะการจบชีวิตไม่ได้ทำให้ปัญหาทุกอย่างจบลง จริงอยู่ในขณะนั้นคนเราอาจคิดว่าชีวิตของตัวเองอับจนจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพราะอารมณ์ของเราอับจนมากกว่า ดังนั้นหากมีสติขึ้นมา อารมณ์ก็จะปลอดโปร่ง ปัญญาก็จะพรั่งพรู จะมองเห็นทางออกมากมาย หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง

“คนที่เคยคิดทำร้ายตัวเองไม่ใช่เป็นผู้ป่วยทางจิต แต่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึก ต่างจากหุ่นยนต์ และต่างจากคนร้ายที่อาจยิ้มได้บนความทุกข์ของคนอื่น มนุษย์ที่แท้จริงอาจเสียใจในความผิดพลาดของตัวเอง อาจผิดหวังในความปรารถนาดีที่มอบให้คนอื่นได้ ดังนั้นเมื่อคนเหล่านั้นผ่านพ้นช่วงวิกฤตชีวิตมาได้ เราจึงควรชื่นชมและให้กำลังใจ และหากเป็นเพราะชะตากรรมต้องสิ้นลมจากโลกนี้ไป เราก็ควรเคารพการตัดสินใจ และให้กำลังใจญาติรวมถึงคนรอบข้าง” นพ.ประภาส กล่าว

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK