World News

นักวิทย์จีน-ไทย ไขปริศนา ‘โลงศพแขวนริมผา’ พิธีแปลกเก่าแก่พันปี

คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีนและไทย ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ของตัวอย่างซากศพมนุษย์จากแหล่งโลงศพแขวน เพื่ออธิบายความลึกลับของพิธีศพโบราณอันแปลกประหลาด

บทความที่เผยแพร่ในวารสารไอไซเอนซ์ (iScience) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าการศึกษาข้างต้นใช้ตัวอย่างซากศพมนุษย์ 41 ราย ที่เก็บจากแหล่งโลงศพแขวนทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของไทย ความเก่าแก่ 660-2,500 ปี จำนวน 13 แห่ง

การศึกษาพบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมฝ่ายมารดา (Matrilineality) ของคนโบราณจากพื้นที่ตอนใต้ของจีนสูงกว่าของคนโบราณจากพื้นที่ตอนเหนือของไทย ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางการแพร่หลายของพิธีกรรมตามหลักฐานทางโบราณคดี

โลงศพ

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พิธีแขวนโลงศพอาจมีความเก่าแก่ย้อนกลับไปในยุคของชาวไป่เย่ว์ (Baiyue) ที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเมื่อราว 3,600 ปีก่อน และแพร่กระจายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราว 2,000 ปีก่อน

จางเสี้ยวหมิง ผู้เขียนบทความและผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ชี้ว่าการแขวนโลงศพบนหน้าผาเป็นพิธีศพโบราณที่ปฏิบัติกันในพื้นที่ตอนใต้ของจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก

ความแปลกประหลาดของพิธีศพโบราณนี้ได้ดึงดูดความสนใจเป็นวงกว้าง และจุดกระแสถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะประเด็นต้นกำเนิดและรูปแบบการแพร่หลายของพิธีกรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ของประชากร

คณะนักวิจัยระบุว่าการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่การอภิปรายเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นกำเนิด และประวัติศาสตร์ของการแขวนโลงศพจากมุมมองพันธุกรรมฝ่ายมารดา และจะเป็นหลักฐานเชิงระบบที่เผยความลับของพิธีกรรมโดยอ้างอิงตัวอย่างซากศพและการวิจัยแบบสหวิทยาการ

ที่มา:สำนักข่าวซินหัว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight