General

‘บุคลากรการแพทย์’ ติดเชื้ออีก 8 ราย ย้ำต้องดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด พร้อมยกระดับป้องกันโรคในรพ.

ผู้ป่วยไวรัส COVID-19 รายใหม่ 143 ราย บุคลากรการแพทย์ติดอีก 8 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 1,388 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 เป็นรายที่ 7 ป่วยหนัก 17 อาการหนัก 1 ย้ำสถิติผู้ป่วยติดเชื้อมากสุดอายุ 70 ปีขึ้นไป ส่วนพื้นที่ระบาดกระจายแล้ว 59 จังหวัด เน้นจังหวัดระบาดหนัก เดินยุทธศาสตร์สร้างระยะห่างทางสังคมเข้มข้น รณรงค์บุคลากรการแพทย์ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด พร้อมป้องกันติดเชื้อในรพ.ให้ดีที่สุด 

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่ม 143 ราย ยอดรวมผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว 111 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็น 7 ราย

906391

โดยมีการแถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าว ทำเนียบรัฐบาล โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และศูนย์แถลงข่าวที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย

นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า ผู้ป่วยเพิ่ม 143 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วย ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงานอาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัด ต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติ และสอบสวนโรค 30 ราย

UpDate02 e1585472276750

สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มีนาคม 2563

ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต 

ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลี จำนวน 83 คนที่ได้กักตัว เฝ้าระวังสังเกตอาการที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งในวันนี้ครบ 14 วัน ทุกคนได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่พบเชื้อ กลับบ้านได้ทั้งหมด ทุกคนอาการปกติ

HghtRisk 01

ในส่วนผู้ป่วยที่อาการวิกฤติจำนวน 17 ราย นั้น 50% เป็นผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 4.7 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)

จึงขอให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตแบบก้าวกระโดด รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ขอให้อยู่ในเคหสถานหรือสถานที่พัก อยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก และเมื่อมีอาการป่วย มีไข้ ไอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิต

นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ 8 รายที่ติดเชื้อใหม่ ติดจากผู้ป่วย 6 คน อีก 1 คนไม่ได้ติดจากผู้ป่วย ส่วน 1 คนประวัติไม่ได้ชัดเจน ต้องสอบสวนกันต่อไป ความสำคัญของกลุ่มบุคลากร ทั้งติดมาจากไหน และติดแล้วหยุดพักหรือไม่ หากมีอาการรู้ตัวช้าจะมีผู้สัมผัสมาก โดยเฉพาะหากเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง ปัญหาจะตามมาได้

“เราก็ไม่อยากเห็นมีบุคลากรทางการแพทยติดเชื้อ เลยต้องออกแบบการป้องกันโรคในรพ.ให้ดีที่สุด และต้องการให้บุคลากรช่วยกันดูแลสุขภาพตัวเอง ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ” 

116

ทั้งนี้จนถึงวันนี้ ( 29 มี.ค.) มีผู้ป่วยกระจายไป 59 จังหวัดแล้ว มี 10 กว่าจัวหวัดไม่เจอผู้ป่วยเลย ประเด็น คือการแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดต่างๆ มีลักษณะไม่เหมือนกัน จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลย วิธีการดำเนินการป้องกัน ก็จะไม่เหมือนจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก หรือไม่เหมือนในกรุงเทพ โดยความเข้มข้น วิธีคิดจะแตกต่างออกไป กรณีมีผู้ป่วยมาก ต้องตรวจจับเร็ว และรีบสอบสวนโรค และจะต้องเพิ่มระยะห่างทางสังคมให้เข้มข้นมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกใน 197 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 29 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 645,158 ราย เสียชีวิต 29,951 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 81,394 ราย เสียชีวิต 3,295 ราย สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 116,050 ราย เสียชีวิต 1,937 ราย อิตาลีพบผู้ป่วย 92,472 ราย เสียชีวิต 10,023 ราย

 

 

 

 

Avatar photo