General

‘บุคลากร’ ป่วยไวรัส COVID-19 อีก 3 สะสม 9 ราย สธ.กำชับ ป้องกันติดเชื้อ ในรพ.เคร่งครัด

บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออีก 3 ราย รวมติดเชื้อสะสมแล้ว 9 ราย สธ.ชับสถานพยาบาลทุกแห่ง เคร่งครัดมาตรการป้องกัน ติดเชื้อในรพ. ด้านกรมควบคุมโรค หวัง พรก.หนุนยอดผู้ป่วยไม่ทะลุ 3,500 รายในสิ้นเดือนเม.ย.

902134

วันนี้ ( 26 มี.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒฺิ กรมควบคุมโรค  แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ประจำวันวันที่ 26 มีนาคม  ว่า วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 111 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย กลับบ้านเพิ่ม 18 ราย กลับบ้านรวม 88 ราย อยู่รพ. 953 ราย เสียชีวิต 4 ราย อาการหนัก 4 ราย

โดยผู้ป่วยเพิ่ม 111 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้  ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 6  ราย สถานบันเทิง 3 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 19  ราย และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนา ที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย จากจังหวัด ปัตตานี จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด สรุปกรณีผู้ป่วยกลุ่มสนามมวยรวม 160 ราย อยู่ในกรุงเทพ 86 ราย ต่างจังหวัด 67 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 6  ราย เป็นชาวอเมริกัน กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 9 ราย ได้แก่ พนักงานบริษัท พนักงานขับรถ ร้านนวด และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย รวมบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 9 ราย และมีปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ อีก 1 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างรอประวัติ และสอบสวนโรค 63  ราย

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในรพ.

D0026 01

จากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงสาธาณสุข สรุปกรณีผู้ป่วยกลุ่มสนามมวยรวม 160 ราย อยู่ในกรุงเทพ 86 ราย ต่างจังหวัด 67 ราย เป็นสาเหตุให้สัดส่วนผู้ป่วยในต่างจังหวัดกำลังเพิ่มขึ้น ล่สุดวันนี้ ( 26 มีนาคม) สัดส่วนต่างจังหวัดขึ้นมาเป็น 49.3% กรุงเทพ 50.7%

ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ติดเพิ่มอีก 3 ราย รวมสะสม 9 รายนั้น รวมกรณีแรกๆด้วยที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ในรพ.เอกชน มาจากช่วงแรกๆ ผู้ปวยมาด้วยอาการคล้ายๆไข้เลือดออก และอีกปัจจัย ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติ ทำให้หมอรับเชื้อ  เพราะไม่ใส่เครื่องป้องกันที่ดีพอ กรณีแบบนี้ต้องให้เกิดน้อยที่สุด

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งเคร่งครัดมาตรการป้องกัน ควบคุมการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่สำคัญหากผู้ป่วยปกปิดประวัติการเจ็บป่วย ประวัติความเสี่ยง จะส่งผลให้ผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาล เสี่ยงติดเชื้อโรคไปด้วย หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อระบบการรักษาพยาบาล ทำให้มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ กลายเป็นผู้ป่วย เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักกันตัวเอง ทำให้ไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย

“บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งทำงานในรพ.และเป็นทีมสอบสวนโรค เพราะต้องไปคลุกคลีผู้ปวย เพื่อซักประวัติ และเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อเก็บตัวอย่าง กระทรวงสาธารณสุข จึงย้ำตลอดเวลาให้ใส่เสื้อ PPE ให้พร้อม ”

ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นทะลุหลักพันเร็วกว่า ที่ได้คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ทั้งหมดยังทราบประวัติที่มาที่ไป โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเก่าที่เคยรายงานแล้ว ทั้งกลุ่มสนามมวย กลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มกลับจากงานบุญ พบประมาณ 20-30 รายต่อวัน แสดงว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในบ้าน ทำให้นำโรคมาแพร่ให้ แม่ พ่อ สามี ภรรยา ลูก หลาน

ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง มีอาชีพทำงานสัมผัสกับชาวต่างชาติ ทำงานในสถานบันเทิง พบทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด วันละประมาณ 10-20 ราย แสดงถึงความตระหนัก เรื่องการป้องกันตัวเองของประชาชนยังไม่ดีพอ ยังไม่งดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ยังไปในพื้นที่คนแออัด ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่หมั่นล้างมือ

ขณะที่พบผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมาจากความรวดเร็วของระบบคัดกรองผู้ป่วย ผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง เมื่อได้รับรายงานผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่จะเข้าไปค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าระบบทันที ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในกทม. และภาคใต้ได้ค่อนข้างสูง ส่วนภาคอื่นๆ ยังมีผู้ป่วยประปรายเนื่องจากประชาชนยังไม่งดการเดินทาง

26Mar Graph

นพ.อนุพงศ์ ย้ำว่า ปลายเดือนเมษายนนี้ ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด จนถึง 30 เมษายน ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข จะมีคนป่วยรวมทั้งประเทศ  3,500 คน หากมาตรการที่ออกมาไม่แรงพอ ทั้งกรณีขอให้ทุกคนอยู่ในบ้าน มีระยะหางทางสังคม ไม่ไปร่วมในที่ชุมนุม แต่หลังจากมีการออกพรก.ฉุกเฉิน ก็คาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ หวังว่าจะไปไม่ถึง 3,500 คนในสิ้นเดือนเมษายน  อย่างไรก็ตามเราต้องเตรียมพร้อมทรัพยากรรองรับ

กรณีเน็ตไอดอล “หมอแล็บแพนด้า” อาสาออกไปเก็บตัวอย่างหาเชื้อไวรัส COVID-19  นั้น หากคนเก็บตวอย่างไม่มีความรู้ ไม่ใส่เครื่องป้องกันดีพอ ถือว่าไม่ปลอดภัย โอกาสไปเก็บแล้ว ติดเชื้อก็มีสูง แต่หากไปเก็บ และไปตรวจแบบชนิดเร็ว เช่น เจาะเลือดที่นิ้ว และหยด ใสุ่ดตรวจสอบเร็ว ก็ปลอดภัยกว่า แต่การแปรผลการตรวจ บวกและลบ ต้องมีข้อมูลประกอบด้วย ยืนยันว่าโดยภาพรวมไม่ปลอดภัย ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การรับรองห้องปฏิบัติการรวมทั่วประเทศแล้ว 44 แห่ง และกำลังเพิ่มอีก รองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์ทั่วโลกใน 194 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 26 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 457,930 ราย เสียชีวิต 20,780 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 81,218 ราย เสียชีวิต 3,281 ราย อิตาลีพบผู้ป่วย 74,386 ราย เสียชีวิต 7,503 ราย

 

 

Avatar photo