Economics

รัฐบาลเร่งขับเคลื่อน‘อีอีซี’ 8 แผนงานเดินหน้าตามเป้าหมาย

นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2559 มาถึงวันนี้ต้องถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการ การพัฒนาอีอีซี 8 แผนงาน

ประกอบด้วย แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ แผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ และบริหารโลจิสติกส์ต่อเนื่อง, แผนการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย, แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว, การพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางการเงิน, แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย และเทคโนโลยี, แผนการพัฒนาเมืองใหม่ และชุมชน, แผนการประชาสัมพันธ์และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และแผนการพัฒนาด้านการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ขึ้นมารองรับ

ทั้งนี้ ในแผนปฏิบัติการการพัฒนาอีอีซีดังกล่าว ได้มีการหยิบยกโครงการจำเป็นและเร่งด่วน ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนอีอีซีระยะแรกไว้ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการทาเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ และการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรืออีอีซีดี เป็นต้น

อีซีซี อู่ตระเภา การบินไทย

โครงการต่าง ๆ ได้นำหลักการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือพีพีพี มาดำเนินการ ผ่านการดำเนินงานในรูป EEC Track เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการประมูลงาน โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าโครงการราว 2.24 แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบันได้ออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนไปแล้ว โดยมีผู้สนใจเข้ามาซื้อซองเอกสารประกวดราคาไปแล้วจำนวน 31 ราย ซึ่งวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังความชี้แจงและเปิดให้สอบถามรายละเอียดของโครงการ รวมถึงเมื่อวันที่ 24-26 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้เปิดให้ผู้ซื้อเอกสารได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลและลงนามสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2562

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนหรือมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้รายละเอียดถึงการศึกษาโครงการ วิเคราะห์และให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุน และจะเปิดเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนเป้าหมายในเรื่องข้อกำหนดสำคัญในการคัดเลือกเอกชน เพื่อนำไปสู่การออกทีโออาร์ในเดือนกันยายนเป็นอย่างช้า และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลลงนามสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2562

อีอีซี มาบตาพุด

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส ได้มีการลงนามข้อตกลงการร่วมทุน เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในระหว่างการเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส คาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนลงนามในสัญญาในเดือนธันวาคมปีนี้

อีอีซี แอร์บัส การบินไทย

อีกทั้ง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้มีการจัดทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ครั้งที่ 1 ไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะได้ในเดือนมกราคม 2562 รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ก็ได้จัดทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ครั้งแรกไปแล้วเช่นกันเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และคาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ในเดือนตุลาคมนี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือนมีนาคม 2562

อีอีซี แหลมฉบัง

ขณะที่แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ก็ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 3 จังหวัดมาเป็นระยะ โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว และศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพ และความปลอดภัยให้กับพื้นที่อีอีซี เป็นต้น

ส่วนแผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย และเทคโนโลยี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการเร่งด่วน ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 กลุ่มงาน 14 โครงการ วงเงิน 390 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มงานการพัฒนาบุคลากรและการส่งเสริมทักษะบุคลากร การพัฒนาการศึกษาและหลักสูตรขั้นพื้นฐาน และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากร การวิจัย และเทคโนโลยี ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อีอีซี เทคโนโลยี

ด้านการดำเนินงานแผนการประชาสัมพันธ์นั้น ภายหลังจากพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งจัดทำแผนเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการออกไปโรดโชว์ต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง เช่น ที่ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งการออกไปแต่ละประเทศต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

ภาครัฐได้ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนต่างชาติด้วยว่า 6 โครงการหลักของอีอีซี ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) จะสามารถประกาศทีโออาร์ได้ภายในปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562

อีอีซี รถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight