COLUMNISTS

‘MTC’ กับโซ่ตรวนที่รอวันปลดล็อก!!

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
309

MTC

ความไม่ชัดเจนของกฎหมายในการควบคุมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกับสถาบันการเงิน (Non-Bank) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจลิสซิ่ง, การรับจำนำทะเบียนรถ, แฟคตอริ่ง, เช่าซื้อ, นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์

ทั้งหลายเหล่านี้…ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหน่วยงานอื่น

ทำให้กลายเป็น “ช่องโหว่” ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วน ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ

เข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าในระดับล่าง ซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

และประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ…การคิดอัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ทำให้กระทรวงการคลัง เดินหน้าออกกฎหมายจัดตั้ง “หน่วยงานใหม่” ขึ้นมา

ผ่านการยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ.2561

เพื่อเข้ามาควบคุมการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ สินเชื่อเช่าซื้อ บริษัทลีสซิ่งค่ายรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือการปล่อยกู้จิปาถะ ให้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

…ประเด็นดังกล่าว กดดันการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ เป็นอย่างมาก

ถือเป็น “โซ่ตรวน” ที่ฉุดรั้งราคาหุ้นไม่ให้ไปไหนมาไหน ในช่วงปลายไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยอมรับว่า กฎหมายดังกล่าวไม่น่าจะเสร็จทัน หรือมีผลบังคับใช้ทันรัฐบาล สนช.

เพราะอยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างก่อนเสนอสนช.

ถือเป็นการ “ต่อลมหายใจ” ให้กับ หุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ

ทำให้มีแรงเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ อย่างคึกคัก

โดยเฉพาะหุ้นของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ( MTC) ในฐานะผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย

และหุ้นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD)

ทุกอย่างดูเหมือนจะจบ!!!

แต่สำหรับ MTC ยังคงเผชิญปัญหาที่ไม่คาดคิด… และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล

นั่นก็คือ กรณีที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ฟ้องร้องศาลแพ่งแบบกลุ่มเรื่องคิดดอกเบี้ยและค่าบริการแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด

โดยศาลนัดไต่สวนคำฟ้องเป็น พ.ย.61 คดีถูกกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ยื่นฟ้อง

ถือเป็นอีกหนึ่ง “โซ่ตรวน” ที่รอวันปลดล็อกของ MTC

โดย ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) เปิดเผยว่า ขั้นตอนของศาลขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นพิจารณาคำฟ้องแต่อย่างใด ยังอยู่ในขั้นตอนว่า ศาลจะรับไว้เป็นคดีกลุ่มหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกมาอย่างไร ทางบริษัทฯก็จะใช้สิทธิในการคัดค้านคำร้อง (ขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม) ดังกล่าวอย่างแน่นอน

เขาย้ำว่า MTC ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ภายใต้ใบอนุญาตประกอบด้วยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน และมีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการหลายใบ รวมทั้ง พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งทำให้ประชาชนสับสน และเข้าใจผิดในสินเชื่อแต่ละประเภท

“เมื่อมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว เชื่อว่าปัญหาความไม่เข้าใจ และความสับสนดังกล่าวของประชาชนจะหายไปในที่สุด และพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ”

อย่างไรก็ตาม บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกกับธุรกิจของ MTC แม้จะถูกกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ฟ้องร้องศาลแพ่งแบบกลุ่มเรื่องคิดดอกเบี้ยและค่าบริการแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด

โดยแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 52.00 บาท

มองปัญหาดังกล่าวกระทบ MTC ในระยะสั้น เท่านั้น

แต่เรื่องนี้ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าบริษัทมีความผิดจริงหรือไม่ และมีผลกระทบต่อผลประกอบการแค่ไหน แต่ในเบื้องต้นประเมินว่าไม่น่าจะกระทบกำไรรุนแรง

ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” เช่นกัน โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 51 บาท

คาดไตรมาส 2/61 กำไรของ MTC จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องที่ 850-860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 50% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนยอดปล่อยกู้คาดว่าจะเติบโต 40-50% โดยได้รับอานิสงส์ช่วงเปิดเทอม และการเร่งขยายสาขา ที่ล่าสุดแตะ 2,800 แห่ง

ขณะที่ P/E อยู่ในระดับต่ำแค่ 18-24 เท่า เทียบค่าเฉลี่ยตั้งแต่เข้าตลาดที่ 33 เท่า