Finance

เปิดโผ!! หุ้นใหญ่วิ่งแรงราคาทะลุ10%

หุ้นใหญ่ที่ราคาปรับตัวขึ้นเกิน 10 เดือนก.ค.2

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือนกรกฎาคม 2561 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 6% และดัชนีสามารถไต่ระดับขึ้นมาแตะ 1700 จุดได้อีกครั้ง โดยแรงซื้อจะกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ และแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการในงวดไตรมาส 2 และงวดครึ่งปีแรกจะออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น

จากการรวบรวมข้อมูลของหุ้นที่มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากสุด 30 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทย พบราคาหุ้นขนาดใหญ่ 7 บริษัท มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10-19 % ดังนั้นสะท้อนว่า หากผู้ลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 และขายออกในช่วงสิ้นเดือน ก็จะได้รับกำไรส่วนต่างราคาหุ้นได้อย่างต่ำ 10% ขึ้นไป ถือว่าเป็นระดับที่ดีเมื่อเทียบกับระยะเวลาการลงทุนเพียง 1 เดือน

โดยหุ้นที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 10% ประกอบด้วย

หุ้นทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ราคาเพิ่มขึ้น 18.87 %

หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) ราคาเพิ่มขึ้น 12.57 %

หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ราคาเพิ่มขึ้น 12.24 %

หุ้นไออาร์พีซี (IRPC) ราคาเพิ่มขึ้น 12.07 %

หุ้นไมเนอร์อินเตอร์ฯ (MINT) ราคาเพิ่มขึ้น 11.54 %

หุ้นพีทีที โกลบอล (PTTGC) ราคาเพิ่มขึ้น 11.30 %

หุ้นซีพีเอฟ (CPF) ราคาเพิ่มขึ้น 10.54 %

ขณะเดียวกัน มีหุ้น 2 บริษัทที่ราคาปรับตัวลดลง หรือให้ผลตอบแทนที่ติดลบ ได้แก่ หุ้นปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ลดลง 4.27 % และหุ้นโกลว์พลังงาน(GLOW) ราคาลดลง 1.32 %

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นจะอยู่ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มธนาคาร สื่อสาร พลังงาน อาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าผลประกอบการน่าจะออกมาดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปีนี้ออกมา พบว่ากำไรดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาหนุนให้ราคาหุ้นแบงก์ฟื้นตัวขึ้นมา  สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงให้กับผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนสิงหาคมนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าดัชนีน่าจะมีการแกว่งตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,700 จุด อาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ ทำให้แรงเก็งกำไรน่าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป

บล.ทรีนีตี้ ประเมินกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า ฝ่ายวิจัยได้แนะนำนักลงทุนที่สะสมหุ้นไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ตามที่แนะนำถือหุ้น Let profit run ต่อไปได้ แต่เนื่องด้วยมูลค่าพื้นฐาน( Valuation) ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วยนั้น ทำให้มองว่าจะต้องกำหนดจุดขายทำกำไรที่ชัดเจน ประเมินกรอบการลงทุนใหม่ช่วง 1 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 1,650-1,750 จุด

โดยให้แนวรับอยู่ที่ 1,650 จุด ส่วนแนวต้านแรกอยู่ที่ 1,720 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,750 จุด หากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับแนวต้านแรกที่ 1,720 จุด แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาส่วนหนึ่ง และหากดัชนีปรับตัวขึ้นต่อไปยังบริเวณ 1,750 จุด มองว่าจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นออกมาและถือเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่ ณ เวลานี้ มองว่าจำเป็นที่จะต้องโฟกัสไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ที่ยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดในเดือนกรกฎาคม และเป็นหุ้นที่ยังคงคำแนะนำซื้อ ในเชิงพื้นฐาน  ได้แก่หุ้น TISCO, PTTEP, TMB, RATCH, BBL, CPALL, TOP, TU โดยให้แนวรับ 1,670 แนวต้าน 1,705 จุด

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เคยประเมินว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีปัจจัยลบที่อาจเข้ามากระทบ ได้แก่ แรงขายของนักลงทุนต่างชาติประเภท Passive funds จากการที่ MSCI เตรียมเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Share ของจีนเข้าสู่การคำนวณดัชนี MSCI EM (ดัชนี MSCI สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่) เป็นรอบที่สอง ในรอบแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกดดันต่อหุ้นไทยไปในระดับหนึ่งแล้ว

บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า จะมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินออกจากประเทศเกิดใหม่อื่นเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงของประเทศอิตาลี ที่มีการครบกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ หากในระยะเวลาใกล้ๆ สถานะการคลังของประเทศอิตาลียังไม่ค่อยดี และบริษัทจัดอันดับเครดิตมีการออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อาจส่งผลให้เกิดบรรยากาศเชิงลบกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้

ขณะที่ภาพ การลงทุนระยะกลางถึงยาว เมื่อสำรวจความคิดเห็นคำแนะนำของโบรกเกอร์รายใหญ่ จะเห็นว่ามีมุมมองเชิงบวก กับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ปีนี้  มั่นใจว่าในสิ้นปีนี้ดัชนีหุ้นไทยจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปที่แตะ 1,900 จุด

อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บอกว่า บริษัทยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้ที่ 1,900 จุด เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังมีทิศทางที่ดี สะท้อนจากตัวเศรษฐกิจ และมีการกระจายตัวของหลายเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง อาทิ ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น และผลผลิตนอกกลุ่มสินค้าการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะเริ่มพลิกฟื้นขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 หลังตลาดได้ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ valuation ลดลงโดยอัตราส่วนพีอีเรโช ลดลงจาก 16 เท่า มาอยู่ที่ 14 เท่า ยังคงแนะนำการลงทุน เน้นหุ้นที่ราคายังขึ้นน้อยกว่าตลาด และมีปัจจัยสนับสนุนจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มส่งออก และกลุ่มธนาคาร ได้แก่ BBL ,KTB ,HANA ,KCE ,CPF และTU

สอดคล้องกับ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ยังคงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้ที่ 1,800 – 1,900 จุด โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากช่วงปลายปี มีปัจจัยด้านการเมือง จะช่วยดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศและกองทุนต่างชาติกลับมาเข้ามาลงทุนได้

นอกจากนี้ การผลักดัน พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น จะส่งผลต่อโครงการลงทุนภาครัฐ เช่นกัน ทั้ง โครงการรถไฟรางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดยไตรมาส 4 ปี 2561 อาจจะมีโอกาสได้เห็นดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 200 – 300 จุด

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight