Economics

GCร่วมกับมหิดลเปิดโครงการ ThinkCycle Bank สร้างเครือข่ายจัดการขยะ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  หรือGC  ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมโรงเรียนนำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง เปิดตัวโครงการ ThinkCycle Bank หรือ ธนาคารทิ้ง – ไซเคิล เพื่อเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยระบบธนาคารขยะรีไซเคิล ออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง ปลูกจิตสำนึกการคัดแยกขยะและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลัก Circular Economy สร้างเครือข่ายการจัดการขยะจากระดับครัวเรือนสู่ระดับจังหวัด

thumbnail think cycle bank ๑๘๐๗๒๖ 0022

นายองอาจ นันทกิจ ท้องถิ่นจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีความโดดเด่นทั้งด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  มีจำนวนประชากรประมาณ 7 แสนคน รวมทั้งประชากรที่เข้ามาทำงาน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากระยองมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม มีสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เกิดความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จังหวัดระยองมีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ และครบวงจร รวมทั้งการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมดูแลปัญหาขยะในพื้นที่

thumbnail think cycle bank ๑๘๐๗๒๖ 0020

สำหรับโครงการ ThinkCycle Bank เป็นการประสานความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มุ่งเน้นการเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยให้เยาวชนและโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ จากระดับครัวเรือนสู่ระดับจังหวัดร่วมแก้ปัญหา

นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางความยั่งยืน และได้ประยุกต์หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรซ้ำให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทได้ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand และโครงการ Upcycling Plastic Waste  มุ่งเน้นนำขยะพลาสติกในทะเลและพลาสติกเหลือใช้มาแปรรูปด้วยนวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสามารถช่วยแก้ปัญหาขยะของไทย

thumbnail think cycle bank ๑๘๐๗๒๖ 0023

ล่าสุด บริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการ “ThinkCycle Bank” หรือ ธนาคารทิ้ง -ไซเคิล  เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดในการจัดการขยะที่มุ่งเน้นตั้งแต่ต้นทาง คือครัวเรือนและโรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนนำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง  12 โรงเรียน โดยรณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการบริหารจัดการขยะ ทั้งการจัดเก็บ

การแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชุมชนของตนและมีรายได้จากการนำขยะรีไซเคิลที่รวบรวมมาขายที่ธนาคารขยะเป็นผลพลอยได้อีกด้วย

thumbnail think cycle bank ๑๘๐๗๒๖ 0017

รศ.ดร. กิติกร จามรดสุิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการจัดการขยะในชุมชน  เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้การจัดการขยะและการใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับ GC ดำเนินโครงการ “ThinkCycle Bank” เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล ออนไลน์ ในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดระยอง โดยจะช่วยสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารขยะ ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงาน ซอฟแวร์ ในการจัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูลปริมาณขยะอย่างมีระบบ พร้อมต่อยอดและพัฒนาระบบสารสนเทศธนาคารขยะรีไซเคิล (Recycle Bank Online Service) เพื่อเป็นโปรแกรมต้นแบบนำร่องสำหรับโรงเรียนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยในด้านการบริหารจัดการขยะในเขตชุมชน  คาดว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะทำให้มีการพัฒนาต่อยอดไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศต่อไป

thumbnail think cycle bank ๑๘๐๗๒๖ 0016

นายภูษิต โภคพลากรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมาบชลูด กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่โรงเรียน วัดมาบชลูด เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง โครงการ “ThinkCycle Bank”  จะเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดระยองและพื้นที่อื่นต่อไป โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการจัดการขยะแก่เยาวชน คณะครูและชุมชน  ส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีและรวบรวมขยะรีไซเคิลจากที่บ้าน เช่น ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม โลหะ กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น เพื่อนำมาขายที่ธนาคารขยะ

นักเรียนที่นำขยะมาขายจะมีสมุดบัญชีรับฝากและสามารถถอนเงินได้ ทำให้เยาวชนเรียนรู้การออมเงินตั้งแต่เด็ก รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็กเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต

สำหรับโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ “ThinkCycle Bank” ประกอบด้วย โรงเรียนเกาะแก้วพิสดาร โรงเรียนเทศบาล 1 โรงเรียนเทศบาล 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล ต.บ้านเพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง โรงเรียนวัดชากลูกหญ้า โรงเรียนวัดมาบชลูด โรงเรียนบ้านหนองแฟบ โรงเรียนวัดตากวน โรงเรียนวัด กรอกยายชา โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 และโรงเรียนวัดมาบข่า

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight