Politics

‘ธรรมนัส-ธีรัจชัย’ โต้กันเดือด ปม ‘ขาดคุณสมบัติ’

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ต่อความไม่เหมาะสมและมีคุณสมบัติต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160  เนื่องจากเคยถูกศาลรัฐประเทศออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุก 6 ปี และ 4 ปี พร้อมกับเนรเทศกลับประเทศฐานความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายธีรัจชัย ระบุว่าก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงรายละเอียดซึ่งแตกต่างกัน ทั้งตอนแรกระบุว่า ไม่ติดคุก แต่การตอบกระทู้ยอมรับว่าเคยติดคุก ดังนั้นถือเป็นสิ่งยืนยันว่า ร.อ.ธรรมนัส มีคุณสมบัติขัดต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ตนมีรายละเอียดและเอกสารใหม่เป็นคำพิพากษาจากศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ปี 2538 โดยมีรายละเอียด ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าได้ขนยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลียจริง โดยไม่มีพรีบาร์เกน ซึ่งขัดแย้งกับ ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงต่อสภาฯ และชี้แจงกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ ว่ามีกระบวนการพรีบาร์เกนและไม่เคยถูกจำคุก

ธีรชัย11

“คำพิพากษายังระบุว่า นายคอนซาเซน ติโน่ เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเจรจาเพื่อซื้อยาเสพติด พร้อมกับพบการขนยาเสพติดเข้าประเทศ ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ถูกลดโทษ เนื่องจากเป็นผู้ธุระจัดหา มากกว่าแค่การขนยาเสพติดเข้าประเทศ ผมเชื่อว่าท่านไม่มีวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลียแน่นอน เพราะบุคคลที่ถูกจำคุกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ  กรณีต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศดังกล่าวถือว่าทำให้เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามบันทึกกฤษฎีกา ที่276/2525 ระบุว่าบุคคลที่ต้องคำพิพากษาจากศาลใดก็ตามต้องขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง” นายธีรัจชัย อภิปราย

จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ลุกชี้แจงทันทีต่อข้อกล่าวหาว่าเข้าสู่ดำรงตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องที่ยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 รับรองไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งอธิปไตยดังกล่าวหมายถึง อำนาจทางบริหาร, ตุลาการ และนิติบัญญัติ โดยการบริหารราชการแผ่นดินมีผลเฉพาะแผ่นดินหรือรัฐนั้นๆ โดยเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้มติครม.ของไทย บังคับใช้กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหากนำมติครม. ประเทศออสเตรเลีย มาบังคับใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากขัดต่ออธิปไตยเหนือดินแดน

ธรรมนัส1 1

ขณะที่อำนาจทางนิติบัญญัติ ที่ตรากฎหมายบังคับใช้เพื่อรัฐนั้น จะมีผลเฉพาะรัฐนั้น ไม่สามารถนำกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย บังคับหรือลงโทษคนไทยในรัฐไทยไม่ได้ ขณะที่อำนาจตุลาการจะมีผลพิพากษาเฉพาะตามอำนาจของรัฐเท่านั้น หากคู่กรณีหรือคู่สัญญาแต่ละประเทศหากยอมรับมาปฏิบัติในกฎหมายไทย ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่นกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ห้ามคนต่างด้าวที่ต้องคำพิพากษา หรือโทษตามกฎหมายของประเทศไทย ยกเว้นความผิดที่ได้รับการยกเว้นโดยกฎกระทรวงห้ามเข้าราชอาณาจักร

“ก่อนฟังผู้อภิปราย ผมตื่นเต้นว่ามีอะไรเด็ด แต่พอฟังแล้วไม่ตื่นเต้น เพราะสิ่งที่พยายามอภิปรายคือ คำพิพากษาของศาลแขวง ผมมีมาตั้งนานแล้ว โดยผมได้ทำหนังสือไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คัดสำเนาคำพิพากษาศาลออสเตรเลีย คือ ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ 31 มีนาคม 2537  และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐ 10 มีนาคม​ 2538 เอกสารที่ท่านแสดง ผมมีนั้นมากกว่าท่าน เพราะมีสาระสำคัญที่เชื่อว่าท่านไม่มี คือ การทดลองเจรจาก่อนเข้าสู่กระบวนการของลูกขุน​ ที่ระบุมีคำแปลว่าผมรับสารภาพว่าเจตนานำเข้ายาเสพติด นั้นไม่จริง เพราะคำแปลที่มีผู้รับรองซึ่งน่าเชื่อถือได้ไม่มีตรงไหนที่ระบุว่าผมรับสารภาพนำเข้า ส่งออก จำหน่ายและผลิตเฮโรอีน ที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามในคำพิพากษาระบุว่าความผิดของผมคือฐานรู้ว่ามีผู้กระทำความผิดแต่ปกปิดแต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ให้ทราบ ทั้งนี้ในคำพิพากษาที่อภิปรายนั้นอ่านไม่ครบถ้วน” ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจง

ธรรมนัส22

ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงด้วยว่ากรณีที่มีสื่อมวลชนที่ถูกจ้างให้ทำข่าว ถูกตนฟ้องดำเนินคดีอาญา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงดำเนินคดีกับคนที่กล่าวหา  ล่าสุดมีผู้อ้อนวอนขอให้ตนถอนฟ้อง ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจตนให้วอร์รูมที่ จ.พะเยา ดูแลต่อการฟ้องร้องดำเนินคดี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight