The Bangkok Insight

‘ตั้งครรภ์วัยรุ่น’ ยังพุ่ง เร่งให้เข้าถึง ‘คุมกำเนิด’ ชนิดกึ่งถาวร แก้ปัญหาเกิดไร้คุณภาพ

ตั้งครรภ์วัยรุ่นยังพุ่ง ปี 61 วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี คลอดวันละ 198 ราย/วัน เร่งบูรณาการแก้ปัญหา ให้เข้าถึงบริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ใส่ห่วงอนามัย-ฝังยาคุมกำเนิด ป้องกันตั้งครรภ์ซ้ำ พร้อมดึงให้แม่วัยรุ่นศึกษาต่อ และเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย มาจากหลายสาเหตุ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้โลกไม่มีเขตแดน การแพร่ระบาดของสื่อลามก ยาเสพติด ความฟุ้งเฟ้อ และวัตถุนิยมของเด็กเยาวชน โครงสร้างครอบครัว ที่เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียงพ่อ แม่ ลูก ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ พ่อแม่ มีเวลาให้กับครอบครัว และลูกน้อยลง จนไม่สามารถเป็นแบบอย่าง อบรม ดูแล และให้ค่าปรึกษาแก่ลูกวัยรุ่นอย่างเต็มที่ ขณะที่ลูกก่าลังอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมรอบตัว

pregnant 422982 640

สถานการณ์อนามัยการเจริญพันธ์ ประจำปี 2561 จากสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกเราให้เห็นว่า จำนวนหญิงคลอดบุตรทั้งหมด จำนวน 628,450 ราย เป็นวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี 72,566 ราย คิดเป็น 11.5% หรือเฉลี่ยคลอดวันละ 198.8 ราย แยกเป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 7 คน วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 192 คน และยังพบว่า มีการตั้งครรภ์ซ้ำ 6,543 ราย

ประเด็นที่วงการแพทย์และสาธารณสุขกังวล ก็คือ แม่วัยรุ่นมีความเสี่ยง ทำให้การเกิดไม่มีคุณภาพ เป็นรูปธรรมที่สุด อยู่ที่เด็กแรกเกิดจากแม่วัยรุ่น มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ รวมไปถึงต่อเนื่องไปถึง “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ของวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี สูงขึ้น จาก 80.8 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2554 เป็น 189.5 คนในปี 2561 ใน 8 กลุ่มโรค ได้แก่ ซิฟิริส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง เริมที่อวัยวะเพศ หูดอวัยวะเพศ และทวารหนัก และอื่นๆ

นพ.กิติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการ สำนักงานอนามัยเจริญพันธุ์ ประเมินถึงสาเหตุไว้ว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สาเหตุเพราะวัยรุ่นเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด จนตั้งครรภ์ โฟกัสไปที่โรงพยาบาล ไม่สามารถจัดบริการคุมกำเนิดได้หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น

โดยเฉพาะเวชภัณฑ์คุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ได้แก่ ห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ สามารถคุมกำเนิดได้ ในระยะเวลานาน 3, 5 และ 10 ปี สูงกว่าวิธีคุมกำเนิด ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นไทย คือ ยาเม็ดคุมกำเนิด แต่วัยรุ่นก็เข้าไม่ถึง ที่สำคัญก็ คือ วัยรุ่น และคนโสด มักจะถูกตีตราจากผู้ให้บริการ จึงไม่กล้าเข้ามาในสถานพยาบาล

ก่อนที่ปัญหานี้จะลามบานปลายออกไป กรมอนามัย เลยร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุน “ค่าบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร” ด้วยการใส่ห่วงอนามัย และฝังยาคุมกำเนิด แก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

รวมทั้งการสนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการสปสช. เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่น และสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์

อย่างไรก็ตามการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ไม่สามารถปล่อยให้ วัยรุ่นแก้ปัญหาโดยลำพัง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ชุมชน และภาครัฐ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กไทยที่เกิดมาทุกคน เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ก้าวเดินอย่างเข้มแข็งมั่นคงในสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

pregnant woman 1130612 640

ในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ก็ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อไม่นานมานี้ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมอนามัย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน

เพื่อเร่งรัด ติดตามหน่วยงานในระดับจังหวัด ขับเคลื่อนป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยมุ่งให้นักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมอย่างต่อเนื่อง ตามรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ถูกกดดันให้ลาออก และจัดบริการสุขภาพ ที่เป็นมิตรเชิงรุกแก่เยาวชน ส่งเสริมการให้คำปรึกษา ก่อน ระหว่าง หลังคลอด หรือหลังแท้ง เพื่อให้เข้าถึงบริการคุมกำเนิด ด้วยวิธีสมัยใหม่อย่างทั่วถึง ตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขณะเดียวก็จัดระบบรับฟังปัญหาให้คำปรึกษาที่ถูกต้องในโรงพยาบาลรัฐ หรือทางสายด่วนนิรนาม 1663 เน้นย้ำข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ เนื่องจากมีแม่วัยรุ่นหลังคลอดหยุดเรียน หรือลาออกจากสถานศึกษาถึง 44% สำหรับกลุ่มที่กลับไปเรียนต่อ 78.1% ได้กลับไปเรียนในสถานศึกษาเดิม 18.8% เรียนนอกระบบการศึกษา และ 37.8% ย้ายสถานศึกษา

เป้าหมายที่ตั้งกันไว้ก็คือ ลดจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน เหลือน้อยกว่า 25 คนต่อหนึ่งพันประชากรหญิงภายในปี 2565 เร็วกว่าระยะเวลาที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ทุกประเทศดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายภายในปี 2569

อย่างไรก็ตามแม้รายงานสถานการณ์และเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ของสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2555-2561 จะพบว่ามีวัยรุ่นตั้งครรภ์ลดลง โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี ลดลงจาก 53.4 เหลือ 35 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ลดลงจาก 1.8 เหลือ 1.2 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง แต่เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องจัดระบบบริการที่เป็นมิตร ให้เข้าถึงบริการของวัยรุ่นโดยไม่ “ตีตรา” ชุมชน และสังคมโดยรอบ ที่สำคัญคนในครอบครัว ก็ต้องไม่ “ตีตรา” เช่นเดียวกัน มีความรักให้แก่กัน พร้อมให้อภัย และดูแลเอาใจใส่ เพื่อทำให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ ทำให้พวกเข้าก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อไป และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันลูกน้อยที่เกิดมาจากแม่วัยรุ่น ก็มีคุณภาพ เป็นความหวังของประเทศในอนาคต

Avatar photo