Telecommunications

วัดขุมกำลัง ‘3 ค่ายโอเปอเรเตอร์’ เอไอเอส-ทรูชิงผู้นำ ‘5G’

หลังจบการประมูลคลื่นความถี่ 5G ทำให้ภาพการแข่งขันของ 3 ค่ายโอเปอเรเตอร์มือถือในไทยมีความชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าจากนี้ไป ทุกค่ายต้องเร่งเปิดให้บริการ 5G ทั้งในส่วนของการให้บริการลูกค้าทั่วไป และการให้บริการในภาคอุตสาหกรรม

Wave cover 01

ภาพของ 5G ในการช่วงชิงความเป็นหนึ่งนั้น ที่ชัดเจนที่สุด จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างเอไอเอสและทรู จากจำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่พอฟัดพอเหวี่ยง เพราะหากจะวัดจากคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ใน 5G ได้ทันทีคือ คลื่น 700 MHz และ 2600 MHzนั้น เอไอเอสมีคลื่น 700 MHz อยู่ที่ 30 MHz และคลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz รวม 130 MHz

ส่วนทรู มีคลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz และคลื่น 2600 MHz จำนวน 90 MHz รวม 110 MHz

ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่รวมคลื่นความถี่สูง 26 GHz ที่ทรูและดีแทคประมูลได้ มารวมในเบื้องต้น เนื่องจากทั้งทรูและดีแทค ต่างยอมรับว่าเป็นคลื่นแห่งอนาคต ที่ยังไม่พร้อมใช้กับ 5G ในประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องด้วยความพร้อมของอีโคซิสเต็ม คลื่นความถี่สูง 26 GHz ยังมีน้อยมากและต้องใช้เวลาสร้างความพร้อมพอสมควร

มาไล่เรียงสรุปคลื่นความถี่ที่ทั้งสามค่ายโอเปอเรเตอร์ถือครอง ดังกราฟฟิกด้านล่าง

Wave02 01

ล่าสุด ทั้งสามค่ายต่างแถลงข่าวประกาศความพร้อมรับยุค 5G กันครบถ้วน ซึ่งแต่ละค่ายต่างก็มียุทธศาสตร์ที่ต่างกัน ภายใต้เงื่อนไขของคลื่นความถี่ในมือ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสามค่าย กล่าวตรงกันคือ 5G ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมประเทศไทยให้ก้าวไปสู่โลกใหม่ จากการพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานในรูปแบบต่างๆ

และสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองค่ายยอมรับเหมือนกันคือ การใช้งาน 5G ต้องอาศัยอีโคซิสเต็มอื่นๆที่จะพัฒนาขึ้นพร้อมกัน โดยเฉพาะดีไวซ์ อย่างโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ทำให้ราคายังสูงอยู่ ตลอดจนการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ที่จะต้องไปควบคู่กัน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไป 5G จะค่อยๆ เกิดขึ้นและใช้เวลา ต่างจากการเปลี่ยนจาก 3G ไป 4G ที่ทำได้เร็วกว่ามาก

มาดูแผนงานของแต่ละค่ายโอเปอเรเตอร์กันบ้าง

Wave01 01

เริ่มจากเอไอเอสที่ยังครองความเป็นผู้นำ ทั้งในแง่จำนวนคลื่นความถี่ในมือรวม 1,420 MHz และผู้ใช้งานกว่า 42 ล้านเลขหมาย

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ต้องใช้คำว่า “มากกว่าพร้อม” สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G ด้วยจำนวนคลื่นที่มีมากที่สุด 1,420 MHz ครอบคลุมทุกบย่านความถี่ ทั้ง ต่ำ, กลาง, สูง สามารถรองรับทั้งวันนี้ และในอนาคต และมากกว่าค่ายอื่นประมาณ 40% และหากเทียบกับคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่ จะมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น 30 เท่า, มีความเร็วเพิ่มขึ้น 24 เท่า และการตอบสนองเร็วขึ้น 10 เท่า

ผู้บริหารเอไอเอส แจกแจงว่า คลื่น 700 MHz เหมาะสำหรับการใช้งานเชื่อมต่อเช่น ไอโอที ขณะที่คลื่นย่านความถี่ระดับกลาง จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งเอไอเอสมีเต็มแม็กซ์ 100MHz ส่วนคลื่นความถี่สูง 26 GHz จะเตรียมไว้สำหรับรองรับอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่เฉพาะ เพราะย่านความถี่สูง จะไม่กว้าง แต่ใช้ได้ดีมากในพื้นที่เฉพาะ

Info 1 AIS

ในเบื้องต้น 5G สำหรับเอไอเอสแล้ว สิ่งที่จะเห็นชัดเจนคือ การนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการต่างกัน ทำให้ต้องมีคลื่นความถี่ที่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม

สำหรับจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ 5G ใช้งานได้จริง ต้องมีการพัฒนาร่วมกันจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดอีโคซิสเต็ม 5G ที่สมบูรณ์ ซึ่งเอไอเอสได้ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์จากหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันพัฒนา โดยเฉพาะมือถือที่รองรับ 5G ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาไม่ต่ำกว่า 30 รุ่นในปีนี้

ที่สำคัญคือ เอไอเอส น่าจะเป็นผู้ที่เริ่มเดินหน้าเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ เพราะในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2563) เอไอเอสจะเป็นรายแรกที่เข้าไปรับมอบใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2600 MHz จาก กสทช. เพื่อเปิดเครือข่าย 5G เป็นรายแรกของไทย ซึ่งถือเป็นการประกาศชิงความเป็นผู้นำรายแรกทันที

 

” 5G สำหรับเอไอเอส จะเป็นการพลิกโฉมการยกระดับประเทศไทยไปอีกขั้น สร้าง Big Move ก้าวย่างครั้งยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงและทรานส์ฟอร์มทุกภาคส่วน ทั้งภาคผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ 5G ที่ดีที่สุด เพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย”นายปรัธนา กล่าว

200221 Pic 10 AIS

อีกประเด็นสำคัญคือ เอไอเอสได้เปิดโซนทดสอบทดลอง (5G Trial) ให้ลูกค้าและประชาชนได้เข้ามาลองสัมผัสกับเครือข่ายและอุปกรณ์ดีไวซ์ 5G ที่ เอไอเอส แฟลกชิพสโตร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และ สยามพารากอน ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

 

ต่อด้วยค่ายทรู ที่มีคลื่นความถี่มากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนรวม 1,020 MHz โดย นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G สำหรับทรู คือการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อก้าวสู่โลกใหม่ที่ยั่งยืน และจะทำให้ทรูสามารถต่อยอดความเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่ครบวงจร

สิ่งที่ทรูให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G คือ การมีพันธมิตรเข้ามาร่วมสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสำหรับทรูแล้ว มองว่า ความได้เปรียบสำคัญของทรู มาจากการเป็นทั้งพันธมิตรและมีผู้ร่วมทุนอย่าง ไชน่าโมบายล์ ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ที่มีลูกค้ามากที่สุดในโลก และเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz เป็นรายแรกของโลก

148867 1

“ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G ค่ายทรูมองว่า การจะเกิดได้เร็วหรือช้า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ราคามือถือ หากไชน่าโมบายล์ขยับเต็มที่ จะทำให้มีตลาดใหญ่มากพอที่จะทำให้ผู้ผลิตดีไวซ์ผลิตตามมา ซึ่งหากวอลลุ่มมากในขนาดที่มีอีโคโนมี ออฟ สเกล จะทำให้ราคามือถือลดลงมาถึงระดับที่จับต้องได้ ซึ่งประเมินว่า หากอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท จะทำให้คนใช้ 5G มากขึ้นแน่นอน”นายสุภกิจ กล่าว

นอกจากการตอบสนองผู้ใช้ทั่วไปแล้ว ทรู ยังมองถึงการใช้ 5G เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมอง 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ เกษตรกรรม, เฮลธ์แคร์, ภาคการศึกษา, ด้านความปลอดภัย, อุตสาหกรรมค้าปลีก และสมาร์ทซิตี้ ซึ่งทรูได้เริ่มทำงานกับพันธมิตรที่มีในทุกภาคส่วนแล้ว

ทรู ยังชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบอีกอย่างว่า เมื่อเทียบคลื่นที่มี ถือว่า ทรูมีทั้ง “ครบ” และ “ครอบคลุม” โดยในคลื่นความถี่ต่ำ ทรูมีแบนด์วิธมากกว่า สำหรับคลื่นความถี่กลาง ทรูมีน้อยกว่า เอไอเอสเพียง 10 MHz และยังมี 26 GHz คลื่นความถี่สูงที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

148815 1

ลูกเล่นที่ทรู นำมาใช้โหมโรงกระตุ้นลูกค้ากับ 5G คือ ทรูจะคัดเลือก “First 5G Citizen” หรือคนกลุ่มแรกที่จะได้ทดลองใช้ 5G ของทรูก่อนใคร ทันทีที่ทรูเปิดให้บริการ เริ่มจาก 5 ฮีโร่ต้นแบบใน 5 มิติ ได้แก่ โลกแห่งความปลอดภัย กับ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์, โลกแห่งการศึกษา กับ เฌอปราง อารีย์กุล, โลกแห่งเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม กับ อเล็กซ์ เรนเดลล์, โลกแห่งสุขภาพ กับ หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ และ โลกแห่งความบันเทิง กับ ไอซ์- พาริส อินทรโกมาลย์สุต

พร้อมกันนี้ ทรูยังเปิดให้ทดลองการใช้งานจริงบนเครือข่าย True 5G ที่ ทรูช้อปและทรูสเฟียร์ 11 สาขา และ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4 สถานี

นายสุภกิจ ปิดท้ายอย่างมั่นใจว่า “ในเมื่อเราเป็นผู้นำ 3G และ 4G ได้ ทำไมเราจะเป็นผู้นำ 5G ไม่ได้”

ปิดท้ายที่ ดีแทค ที่ดูจะถือแต้มต่อน้อยที่สุด ด้วยจำนวนคลื่นความถี่ในมือรวม 520 MHz โดยดีแทคเลือกประมูลคลื่นความถี่สูง 26 GHz และได้มาครอง ซึ่งดีแทคย้ำว่า ทำให้ดีแทค มีคลื่นครบทุกย่านความถี่ ทั้ง ต่ำ, กลาง, สูง และเพียงพอที่จะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

dtac5G 1538 1

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า การได้คลื่นย่านความถี่สูงมาเพิ่มในชุดคลื่นความถี่ของดีแทค ที่มีความพร้อมในคลื่นย่านความถี่ต่ำและความถี่กลางจะทำให้เราส่งมอบประสบการณ์ใช้งานคุณภาพสูงสู่ลูกค้าดียิ่งขึ้น และพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

สิ่งหนึ่งที่ดีแทคสัญญาอย่างต่อเนื่องคือ “จะไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายและนำเทคโนโลยีใหม่เพื่อลูกค้าทุกคน”

สำหรับการขยับสู่ 5G ของดีแทคนั้น การถือครองคลื่น 5G ความถี่ย่าน 26GHz จำนวน 200 MHz จะสามารถนำมาให้บริการ 5G อินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ไร้สายประจำที่ ซึ่งจะทำความเร็วได้สูงสุดราว 1Gbps ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ คาดว่าจะเปิดให้บริการราวครึ่งปีแรกของ ปี 2563

ขณะที่การขยายโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz เพื่อเพิ่มการครอบคลุมใช้งาน 5G โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

5Gdtac 01 1 1

ดังนั้น ในปี 2563 ดีแทคมีแผนพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการใช้งาน 5G ไร้สายความเร็วสูง อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่ และคอนเทนท์รูปแบบใหม่ โซลูชั่นอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือไอโอที สำหรับอุตสาหกรรม และพัฒนารูปแบบใช้งาน

ทั้งหมดนี้ สะท้อนได้ชัดเจนว่า สมรภูมิการแข่งขัน 5G จะดุเดือดรุนแรงแน่นอน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และตลาดผู้ใช้ทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ราคาดีไวซ์ ที่จูงใจผู้ใช้มากพอที่จะกล้าทดลองใช้ และการสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดจากความร่วมมือของพันธมิตร

Avatar photo