Economics

ปี 63 ลุ้น 2 ภารกิจชาติ กรมเชื้อเพลิงฯ กับแม่ทัพนายกองรุ่นใหม่ 

2 ภารกิจชาติ ปี 2563 กรมเชื้อเพลิงฯ “สราวุธ” หัวหอก เดินหน้าหาข้อมูล-แสวงหาความร่วมมือ ประเมิน OCA ต้องแขวนขีดเส้นเขตแดน ปักพื้นที่พัฒนาร่วมเท่านั้น ย้ำเดินหน้าได้ต้อง “Political Voice” เท่านั้น

ภารกิจใหญ่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปีนี้ “ไม่หมู” เหมือนเคย  ต้องทำหน้าที่เป็น “ปู่โสม” รักษาสมบัติชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางสร้างประโยชน์สูงสุดกลับมาจากสมบัติที่มีอยู่ ในยามที่ประเทศต้องการแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ  โดย 2 เรื่องใหญ่ในปี 2563 ของกรมนี้ ก็คือการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (Overlapping Claims Area :OCA) และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

line 13394633955759 ใหม่

มีดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คนรุ่นใหม่วัย 45 ที่เข้ามารับตำแหน่งแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ไม่ต้องลุ้นให้มากความ เพราะทำงานเข้าตาเข้าทางมานาน  โดยครม.มีมติให้เขาเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เมื่อ 15 ตุลาคม 2562 เรียกได้ว่าเข้ามาเพื่อรับงานเต็มสองมือ ยังไม่ทันนั่งเก้าอี้ดี ก็มีบทบาทสะสางให้เรื่องคลี่คลายไปแล้วสำหรับข้อพิพาทการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่า อย่างเชฟรอนกับกระทรวงพลังงาน จนเชฟรอน ผ่อนคลายใช้วิธีเจรจาหาข้อยุติแทนการเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการ

มาปีนี้มี 2 เรื่องใหญ่รอลุ้นอยู่ เขา ระบุว่า ทั้งเรื่อง OCA และสัมปทานรอบใหม่ อยู่ภายใต้นโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่มอบให้กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งดำเนินการในปีนี้ ในส่วนของ OCA นั้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบให้กรมฯหาวิธีการที่เหมาะสม

โดยเราได้เริ่มศึกษาข้อมูลต่างๆ และหาทางออกที่ดีที่สุด คอนเซปต์ที่วางไว้ให้เรื่องนี้เดินหน้าไปได้ ก็คือ การปลดล็อกอุปสรรคใหญ่ ด้วยการมองข้ามเส้นเขตแดนไปก่อน และขีดบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาจุดใดจุดหนึ่งจากทั้งหมด 26,000 ตร.กม. เพื่อพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันของสองประเทศ เหมือนไทยมาเลเซีย ที่มีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA (Joint Development Area) ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรไทย-มาเลเซีย (Malaysia -Thailand Joint Development Area :MTJDA)

แต่ยังบอกไม่ได้ว่าพื้นที่ที่จะขีดร่วมกัน ควรจะเป็นจุดไหน และศักยภาพของปิโตรเลียมจะเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้ตนเองและทีมของกรมเชื้อเพลิงฯพยายามหาเอกสารข้อมูล รวมถึงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เบื้องต้นเห็นว่าการพัฒนาร่วมกันของสองประเทศ โดยไม่ยังพูดถึงการลากเส้นเขตแดน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้  เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่แนวคิดนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการ Test Concept ด้วย

“หากรอให้การลากเส้นแขตแดนก่อน คงไม่จบ เพราะการลากเส้น ทำได้เป็นร้อยเส้น และแต่ละเส้น ก็ล้วนมีทฤษฎีรองรับ แม้เราจะเลือกเส้นที่ดีที่สุด แต่ทางกัมพูชาก็อาจคิดไม่เหมือนเรา เพราะการตีเส้นหมายถึงอธิบไตยของประเทศ ต่างยอมกันไม่ได้ “

นายสราวุธ ย้ำว่า เรื่องนี้คงไม่เร็ว ไม่ต่ำกว่า 2 ปีถึงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง  เพราะไทยมีระบบสอบคานอำนาจกัน และมีความเห็นแตกต่างค่อนข้างมาก การเดินหน้าเรื่องนี้ต้องแสวงหาการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเสียก่อน ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพเรือ ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เป็นต้น และสุดท้ายต้องเป็น Political Voice  ที่จะมากดปุ่ม

“มองในภาพรวมแล้ว การพัฒนร่วมเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะอย่างไรเสียเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ต้องอยู่ด้วยกันไปตลอด การมาทะเลาะกันไม่เกิดประโยชน์ใดๆ สู้มาพัฒนาร่วมกัน เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศจะดีกว่า”

Bongkot field 01
แหล่งบงกช

หากมองเฉพาะประเทศไทย แน่นอนว่า หากพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในบริเวณนี้ จะช่วยต่อลมหายใจให้ก๊าซธรรมชาติของไทย ให้เรามีความมั่นคง และยั่งยืนทางพลังงานไปอีกระยะหนึ่ง

เพราะปัจจุบันเรามีปริมาณสำรองก๊าซฯอยู่ราว 10 ล้านล้านลบ.ฟุต (TCF) ขณะที่เราใช้ 1 ล้านลบ.ฟุตต่อปี ดังนั้นภายใน 10 กว่าปีก๊าซฯสำรองจะหมดลง โดยเฉพาะหลังจากแหล่งบงกชและเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ป้อนการใช้งานในประเทศราว 70% หมดไปในปี 2575 แหล่งปิโตรเลียมใน OCA จะเข้ามาแทนที่ ให้เราผลิตก๊าซฯใช้่ในประเทศได้ต่อเนื่องราว 10 ปีจากนั้น

“ต่อลมหายใจให้อุตสาหกรรม ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก็หมายถึงต่อลมหายใจให้ประเทศไทยด้วย ”  เขา ย้ำ

ทั้งนี้อาจมีข้อแย้งว่า เรามีทางเลือกในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทดแทนก๊าซฯในอ่าวที่ลดลง รวมไปถึงการที่ไทยกำลังยกระดับเป็นศูนย์กลางค้า LNG ด้วย

แต่นายสราวุธ มองในอีกมุมหนึ่งว่า ในภาพรวมแล้ว การค้า LNG ที่ซื้อมาขายไป ประเทศไม่ได้อะไรนอกจากค่าธรรมเนียมเล็กน้อย เทียบกับการสำรวจ และพัฒนาก๊าซฯในอ่าว ซึ่งประเทศจะได้ทั้งค่าภาคหลวง การจ้างงาน สร้างอาชีพ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่หักจากรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานไม่น้อยกว่า 50%

อีกเรื่องเดียวกันที่เป็นภารกิจของกรมเชื้อเพลิงฯปีนี้ ก็คือ การแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆในประเทศไทย ด้วยการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ นายสราวุธ บอกว่า กำลังดูข้อมูลว่าจะเปิดแปลงใดบ้าง เน้นหนักในอ่าวเป็นหลัก เพราะแหล่งบนบกทำได้ยากกว่าจากหลายๆปัจจัย คาดว่าจะเปิดสัมปทานได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตามก่อนจะเคาะหมายเลขแปลง เพื่อเปิดให้สัมปทานนั้น ต้องประเมินก่อนว่าแปลงนั้น มีศักยภาพมากพอ เพื่อให้ผู้ประกอบการสนใจ และพัฒนาได้จริง เขา บอกอย่างอ่อนใจว่า บ้านเราไม่ได้มีศักยภาพมาก รอบ 12 ปีที่ผ่านมาสัมปทาน ที่เปิดไปนั้น ไม่พบปริมาณปิโตรเลียมเลย ปริมาณปิโตรเลียมที่ประเทศใช้ทุกวันนี้มาจากการเปิดรอบ 1 และ 2 เท่านั้น และสัดส่วน 70% มาจากแหล่งบงกชเอราวัณ

“สัมปทานปิโตรเลียมรอบนี้ จะเป็นรอบที่ 23 และอาจจะนำแปลงที่เปิดไป และพัฒนาไม่เจอ มาเปิดรอบใหม่ อย่างไรก็ตามกรมฯก็ต้องประเมินศักยภาพก่อนเบื้องต้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน เขาสนใจ และผลิตได้ ถึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง จากรายได้ต่างๆที่เข้ารัฐ “

ทั้งสองภารกิจของกรมเชื้อเพลิงฯปีนี้ หากทำให้เป็นรูปธรรมได้จริง ต้องยกประโยชน์ให้แม่ทัพของกรมฯ ที่ตอนนี้ไม่ได้วางเว้นในการหาข้อมูล และหาความร่วมมือรอบด้าน  แต่เหนือไปกว่านั้นการสนับสนุนของภาคการเมือง และทุกกรมกองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนก็สำคัญไม่แพ้กัน  โดยมีประโยชน์ประเทศเป็นเป้าหมายร่วม เพราะงานช้างระดับนี้ ไม่ง่าย ลุยลำพังก็อาจ “ตายลำพังได้” 

Avatar photo