Startup

เคล็ด (ไม่) ลับ มือใหม่ต้องอ่าน!! กลยุทธ์ทำธุรกิจบน ‘อินสตาแกรม’

การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล เป็นความมุ่งมั่นใฝ่ฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อินสตาแกรม (Instagram) ได้รวบรวม 3 เคล็ดลับจากเจ้าของแบรนด์ CAMP, Diamond Grains และ Copper.bkk ที่มาร่วมแบ่งปันเพื่อเตรียมความพร้อมและช่วยผลักดันธุรกิจบน Instagram ให้เติบโตและเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น

เคล็ดลับพิชิตความสำเร็จของธุรกิจบน Instagram

instagram 1789189 1280

 

1.ส่งธุรกิจสู่เวทีแจ้งเกิด

ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในคนหมู่มาก Instagram ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์อันท้าทายนี้ได้เป็นอย่างดีด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกถึง 1,000 ล้านคนต่อเดือน เป็นพื้นที่ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนกับชุมชนและสิ่งที่สนใจ มอบประสบการณ์ใช้งานที่เรียบง่ายแต่น่าสนใจด้วยการเล่าเรื่องราวผ่านรูปภาพและวิดีโอเป็นหลัก ถือเป็นรูปแบบของการสื่อสารที่ก้าวข้ามข้อกำจัดด้านภาษาและวัฒนธรรม และเข้าถึงคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี

นอกจากการสมัคร Business Account (บัญชีธุรกิจ) บน Instagram จะไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโพสต์ สตอรี่และผู้ติดตามได้มากกว่าบัญชีส่วนตัวทั่วไปบน Instagram เช่น ทราบถึงเกณฑ์การชี้วัดตามช่วงเวลาจริงว่าแต่ละโพสต์มีประสิทธิภาพอย่างไรตลอดวัน เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ติดตามและวิธีที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น หากมี เฟซบุ๊ก เพจ อยู่แล้ว แนะนำให้เชื่อมต่อบัญชีธุรกิจ Instagram ในครีเอเตอร์ สตูดิโอ (Creator Studio) ซึ่งเป็นตัวช่วยให้สามารถจัดการทุกอย่างที่เกิดขึ้นบน Instagram ได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการโพสต์ต่างๆ การสำรวจข้อมูลเชิงลึกและการตรวจสอบข้อความ เป็นต้น

2 2

2. คอนเทนต์โดนใจคือกุญแจสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ความโดดเด่นของ Instagram คือการเชื่อมต่อผู้คนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันเข้าไว้ด้วยกัน ข้อมูลจากสถิติที่สำรวจกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลชาวไทยพบว่า 90% ของคนกลุ่มนี้กดติดตามธุรกิจที่ตนสนใจและตัวเลขนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทริคง่ายๆ ที่จะช่วยให้โปรไฟล์ธุรกิจโดดเด่นเหนือกว่าและดึงดูดผู้คนใหม่ๆ ที่สนใจสิ่งเดียวกันให้เข้ามาติดตามคุณเพิ่มมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • การตั้งชื่อโปรไฟล์ ชื่อโปรไฟล์ที่ดีที่สุดคือชื่อที่สั้นกระชับ จดจำง่าย และสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ แบรนด์ได้ดีที่สุด
  • ช่องประวัติและข้อมูลสำหรับการติดต่อ อย่าลืมใส่รายละเอียดสั้นๆ แต่สะดุดตาเพื่ออธิบายให้ผู้ที่ผ่านไปมาเข้าใจถึงประเภทธุรกิจของคุณ รวมถึงให้รายละเอียดสำหรับการติดต่อ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เว็บไซต์ ที่อยู่ และลิ้งก์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังสามารถใช้แฮชแท็กหรือการกล่าวถึงด้วยการพิมพ์ @ เพื่อเชื่อมไปยังเพจหรือโปรไฟล์อื่นๆ ได้อีกด้วย
  • รูปโปรไฟล์ รูปโลโก้ของแบรนด์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากธุรกิจของคุณยังไม่มีโลโก้ อาจใช้รูปภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากที่สุด ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงภาพเซลฟี่ ภาพหมู่ หรือภาพที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ

อินสตาแกรม2

  • การสร้างสรรค์คอนเทนต์ โพสต์คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันอยู่เสมอ เช่น ธุรกิจขายคุกกี้ที่โพสต์แนะนำสินค้าแต่ละรสชาติวันละ 1 ครั้ง อาจจะถี่มากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการโพสต์คอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์หลักของธุรกิจ เพราะอาจทำให้สูญเสียเหล่าผู้ติดตามไปอย่างน่าเสียดาย
  • เพิ่มความน่าสนใจด้วยวิดีโอ สร้างคอนเทนต์วิดีโอที่ผู้ชมเข้าใจได้ไม่ว่าจะเลือกรับชมด้วยการเปิดหรือปิดเสียง เคล็ดลับคือการถ่ายทอดสิ่งที่น่าสนใจให้ได้ภายใน 3 วินาทีแรก ไม่เช่นนั้น คนอาจจะหมดความสนใจและเลื่อนไปดูสิ่งอื่นแทน

3. เรียนรู้การใช้เครื่องมือและลูกเล่นต่างๆ ให้เป็นประโยชน์

เทรนด์การซื้อขายผ่านการสนทนา หรือ Conversational Commerce ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่การใช้แพลทฟอร์มผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ยังมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ผ่านการพูดคุยและสอบถามข้อมูลที่เป็นกันเองมากขึ้น

สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจบน Instagram ทุกครั้งที่ติดต่อกับลูกค้า ขอแนะนำให้เลือกใช้ข้อความที่แสดงถึงความจริงใจและความใส่ใจเสมอ หลีกเลี่ยงการโต้ตอบแบบคัดลอก-วาง เพราะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณไม่สนใจพวกเขา ดังนั้น การสนทนาที่แสดงออกถึงความใกล้ชิดและเป็นกันเอง แต่ยังคงประสิทธิภาพจึงเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้

1 7

นอกจากนี้ ลองศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้ เครื่องมือสร้างสรรค์โฆษณาที่น่าสนใจบน Instagram เพื่อเพิ่มการโต้ตอบระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น เช่น

Instagram Stories – ช่วยให้แบรนด์สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สนุกสนานในแบบเรียลไทม์เน้นการนำเสนอเนื้อหาแบบออร์แกนิกมากขึ้น สตอรี่ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้คุณโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น การกดแชร์รีวิวจากลูกค้ามายังสตอรี่ของคุณ การโพสต์คอนเทนต์เบื้องหลังต่างๆ ของแบรนด์เพื่อให้ผู้ติดตามรู้สึกถึงความเอ็กซ์คลูซีฟ การใช้สติกเกอร์เคาวท์ดาวน์เพื่อสร้างกระแส การใช้สติกเกอร์ถาม-ตอบ  รวมถึงการนำเทคโนโลยีความจริงเสริมหรือ AR จาก Spark AR Studio มาช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับโฆษณา เป็นต้น

IGTV – เครื่องมือที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ได้ในเวลาที่ยาวนานขึ้น ตอบสนองความคิดสร้างสรรค์ของครีเอเตอร์ และเป็นช่องทางดึงดูดผู้บริโภคหน้าใหม่ให้ค้นพบแบรนด์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสร้างมาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแบบเต็มหน้าจอและอยู่ในแนวตั้ง

IG

Instagram Live – อีกหนึ่งช่องทางในการสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบเรียลไทม์ที่เชื่อมต่อแบรนด์กับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แนะนำให้ใช้ฟีเจอร์ถ่ายทอดสดเพื่อประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ สาธิตวิธีการใช้สินค้า หรือประกาศช่วงเวลาโปรโมชั่นลดราคา Flash Sale หรืออาจใช้แจกของที่ระลึกกับเหล่าแฟนคลับก็ยังได้

Direct Message – การส่งข้อความแบบตอบกลับเป็นการส่วนตัวจะช่วยให้แบรนด์มอบประสบการณ์การบริการที่ใกล้ชิดและตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น หากเป็นคำถามที่ลูกค้าถามมาบ่อยๆ (FAQ) ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่น Quick replies เป็นตัวช่วยในการบันทึกคำตอบที่ลูกค้าถามบ่อย เพื่อย่นระยะเวลาในการพิมพ์โต้ตอบกับลูกค้าทุกรายด้วย

Hashtags – แฮชแท็กช่วยให้ผู้คนเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายดายขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานไม่สามารถค้นหาคอนเทนต์จากคำบรรยาย (Caption) ได้ แต่สามารถเลือกกดดูแฮชแท็กที่ใกล้เคียงกับความสนใจของพวกเขาได้ การใช้แฮชแท็กจึงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้คอนเทนต์ของคุณกระจายถึงผู้ใช้งานที่อาจไม่ได้ติดตามคุณอยู่แล้ว โดยแบรนด์อาจเลือกสร้างแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์โดยเฉพาะหรือเลือกใช้แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องและได้รับความนิยมอยู่แล้วเพื่อเพิ่มโอกาสการค้นพบก็ย่อมได้

Avatar photo