Digital Economy

อาลีบาบาเพิ่มหลักสูตรอบรมอีคอมเมิร์ซ – ค้าขายบนลาซาด้าให้ผู้ประกอบการไทย

20180717 111922
นายลูอิส หลิว (ซ้าย)

อาลีบาบาชี้ 5 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 7.8% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าไทยที่ขายดี 3 อันดับแรกนั้นประกอบด้วย กลุ่มอาหาร, เครื่องสำอาง และสินค้าด้านการท่องเที่ยว แต่หากมองเป็นแบรนด์พบว่า “มิสทีน” ขึ้นแท่นขายดีอันดับ 7 บนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา พร้อมประกาศมองหาสินค้าไทยใหม่ ๆ เข้าสู่แพลตฟอร์มเพิ่มเติม โดยผู้บริหารชี้ว่ามุ่งความสนใจไปที่ “ดอกไม้สด” นอกเหนือจากทุเรียนและข้าวหอมมะลิ

นายลูอิส หลิว ประธานฝ่ายโกลบอล เทรนนิ่งของ Taobao University เผยถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของอาลีบาบาต่อตลาดไทยว่ามีหลายกรณีที่ห้างทีมอลล์ (Tmall) สามารถช่วยผู้ประกอบการไทยได้ เช่น การจัดเทศกาลทุเรียนที่ให้สัญญากับลูกค้าว่าจะจัดส่งทุเรียนถึงมือได้ภายใน 3 วัน หรือการขายข้าวไทยไปยังตลาดจีน ซึ่งในจุดนี้ อาลีบาบาชี้ว่า สามารถทำได้เนื่องจากความพร้อมด้านระบบลอจิสติกส์ของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับข้อมูล (Data) โดยอาลีบาบาชี้ว่า การเป็น Data-Driven Platform ทำให้อาลีบาบาสามารถแนะนำผู้ซื้อให้กับผู้ขายได้อย่างถูกต้องถูกเวลา และถูกคน

แต่นั่นยังอาจไม่พอสำหรับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีน โดยเฉพาะในด้านการให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยถึงการดำเนินธุรกิจบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้ทางแพลตฟอร์มประกาศเดินหน้าหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น พร้อมจับมือลาซาด้าเปิดโครงการพัฒนา “ลาซาด้าสตาร์” ดึงผู้ประกอบการมาอบรมการเป็นโค้ชเพื่อสอนผู้ประกอบการไทยหน้าใหม่ในการใช้แพลตฟอร์มลาซาด้าต่อไป

สำหรับการอบรมเหล่าโค้ชชาวไทยนั้น จะมีทีมเทรนเนอร์จาก Taobao University และ Lazada University มาร่วมกันสอน และสร้างหลักสูตรให้เหมาะสมกับตลาดไทยโดยเฉพาะด้วย ผู้ที่เรียนจบจะได้ใบประกาศนียบัตร และสามารถรับบทบาท “โค้ช” ได้ต่อไป

ที่ผ่านมา จากการเปิดเผยของนายลูอิส หลิว พบว่า มีผู้ประกอบการไทยผ่านการอบรมในหลักสูตร Global Course จากอาลีบาบาแล้ว 3,000 ราย และในปีนี้ตั้งเป้าจะอบรมผู้ประกอบการไทยอีก 3,000 ราย

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวได้ถามนายลูอิส หลิวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยในสัดส่วนเท่าใดที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบาจนต้องมีการเพิ่มหลักสูตรฝึกอบรมนั้น นายลูอิส หลิวเผยว่า ไม่สามารถให้คำตอบได้ พร้อมชี้ว่า นอกจากการอบรมแล้ว การขายได้หรือไม่ได้บนแพลตฟอร์มนั้นยังประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้า, ความชอบ-ไม่ชอบของชาวจีน, การตั้งราคา ฯลฯ แต่อาลีบาบาก็ยังมองว่า อีคอมเมิร์ซเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงตลาดอย่างที่โลกการค้าในอดีตไม่สามารถให้ได้

พร้อมกันนี้ นายลูอิสยังได้เผยถึงความท้าทายของตลาดจีนด้วยว่า ภายในปี 2563 จีนจะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 33% สู่ 731 ล้านคน หรือคิดเป็นขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าและชาวจีนที่นิยมสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะอยู่ที่ 25% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด 

Avatar photo