Waste Management

‘ร่วมใจลดถุงพลาสติก’ เทรนด์รักษ์โลกแห่งปี ‘ตลาดสด’ พื้นที่ท้าทายใหม่

“ลดใช้ถุงพลาสติก” เทรนด์รักษ์โลกแห่งปี  ปรับพฤติกรรมคนไทยลดขยะพลาสติก ปี 63 ขยายกลุ่มเป้าหมายเจาะ “ตลาดสด” ประเด็นความท้าทายใหม่ ก่อนประกาศลดถุงพลาสติกเบ็ดเสร็จปี 64

rubbish 143465 640

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ระบุว่า รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วถึงจำนวน 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 9,750 ล้านใบต่อปี

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 หรือ 2 วันมาแล้ว ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ฟันธงเริ่มดีเดย์ขอความร่วมมือห้างร้านใหญ่ งดแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) มีห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อรายใหญ่มาเข้าร่วมมากขึ้นกว่า 80 บริษัท สร้างกระแสการตื่นตัวได้มากกว่าการรณรงค์ไปเรื่อยๆก่อนหน้านี้ และได้ผลชัดเจน เพียงแค่ 2 วัน หลายร้านลดการใช้ถุงได้นับหมื่นใบ ข้อมูลระบุว่า การลดถุงพลาสติกเพียง 1 ใบต่อคนต่อวัน ช่วยลดขยะถุงพลาสติกได้ถึง 24,445 ล้านใบต่อปีเลยทีเดียว

ทำไมเราถึงต้องรณรงค์ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวเป็นประเด็นใหญ่ จากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกวัน จากหลายปัจจัย ทั้งการขยายตัวของชุมชนเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภค ในปี 2561 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน หรือประมาณ 76,200 ตันต่อวัน หรือโดยเฉลี่ย 1 คน สร้างขยะ 1.17 กก.ต่อวัน ซึ่งปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลล่าสุด ปี 2561 เพิ่มจากปี 2560 สัดส่วน 1.64%

สำคัญไปกว่านั้น ขยะเหล่านี้ ถูกคัดแยก และนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน หรือ 34% กำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน หรือ 39% และกำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน หรือ 27% มาทั้งในรูปการเทกอง เผา ลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

shopping 874974 640 1

และขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นแต่ละวัน แยกเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน เช่นเดียวกันถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 0.5 ล้านตัน อีกจำนวน 1.5 ล้านตันถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็น “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร นับเป็นการใช้งานที่สั้น ขณะที่ขยะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 400-450 ปี

เมื่อบวกกับพฤติกรรมการทิ้งขวางขยะ ทำให้ขยะพลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติก เข้าไปอุดท่อระบายน้ำ ก่อปัญหาน้ำท่วมขัง และลอยเป็นขยะในแม่น้ำลำคลอง และทะเลในที่สุด ทำให้ไทยมีปริมาณขยะในทะเล ติดอันดับ 6 ของโลก จากปริมาณขยะสะสม 1 ล้านตัน ลุกลามกลายเป็นปัญหาขยะเกลื่อนทะเล และไมโครพลาสติก กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และสิ่งมีชีวิต สุดท้ายกลับมาที่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์

ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรฯ จึงเน้นเป้าหมายไปที่การลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว ภายใต้ Roadmap ด้านการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) เริ่มแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ในการงดให้และรับถุงพลาสติก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้รณรงค์มาแล้ว ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดถุงพลาสติกหูหิ้ว ทั้งจากตลาดสด และห้างสรรพสินค้าได้ถึง 3,000 ล้านใบ และวางเป้าหมายสเต็ปต่อไปปี 2564 ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว จะถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์

IMG 20200101 091152

อย่างไรก็ตามแหล่งที่มาของถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ ที่มีการแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง อัตราส่วน 30% หรือประมาณ 13,500 ล้านใบต่อปีแล้ว ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยังมาจากร้านค้าโชห่วยรายย่อย สัดส่วน 30% และ ตลาดสดท้องถิ่น สัดส่วน 40 % หรือ 30,000 ล้านใบต่อปีมาจากแหล่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งเนื้อสัตว์สด อาหารทะเลสด ผักสด ที่ทั้งให้ และรับถุงพลาสติกกันจนเคยชิน 1 ใบไม่พอซ้อน 2 หรือ 3 อีกด้วย

ดังนั้นใน 1 ปีก่อนการยกเลิกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำเป็นต้องรณรงค์อย่างเข้มข้นกับประชาชน เพื่อให้วางแผนการจับจ่าย ถือภาชนะอะไรมาก็ได้ติดตัวมาจ่ายตลาด พ่อค้าแม่ขายเองก็ต้องร่วมมือ ไม่ยัดเยียดให้ รวมถึงผู้ดูแลรับผิดชอบตลาดทั้งหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการเจ้าของตลาดออกแรงโปรโมท เพื่อสร้างการตื่นรู้ ตระหนัก นำไปสู่การปรับพฤติกรรม และเลยไปถึงถือคัมภีร์  3Rs ประกอบด้วย  Reduce Reuse Recycle เป็นแผนที่นำทางวิถีชีวิตใหม่แบบ “รักษ์โลก”

นอกจากการรณรงค์ลดถุงพลาสติกแล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ยังจะมีมาตรการอื่นๆตามมาด้วย โดยจะบังคับลดและเลิกใช้พลาสติกอีก 7 ชนิดภายในปี 2565 ประกอบด้วย พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมสารประเภทอ็อกโซ่ ไมโครบีดจากพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก มีการตั้งเป้าหมายสูงสุดนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

sun 4269841 640

อย่างไรก็ตามงานใหญ่อย่างนี้ ไม่ใช่เป็นภารกิจของกระทรวงทรัพยากรฯเท่านั้น ต้องระดมกระทรวงต่างๆ รวมถึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือ เพราะเป็นพันธสัญญาร่วมของประเทศไทย ที่ทุกคนต้องเข้ามาส่วนในการจัดการขยะ เป้าหมายการเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society)จึงจะสำเร็จ

หากได้รับความร่วมมือ การปลดไทยออกจากประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดให้พ้น 1 ใน 10 ของโลกก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม และเป็นผู้นำของอาเซียนในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก สร้างภาพลักษณ์การเป็นเมืองรักษ์โลก ช่วยประหยัดงบประมาณ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย  ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ ประเมินว่า หากนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดปริมาณพลาสติก ที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับ และกำจัดขยะได้อีกด้วย ช่วยชะลอการขยายพื้นที่ฝังกลบขยะของประเทศ

 

Avatar photo