Green Energy

‘สนพ.’จับมือ 2 การไฟฟ้าฯ ลงพื้นที่อยุธยา แจง ‘สมาร์ทกริด’

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้าจัดสัมมนาเรื่อง “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” อย่างต่อเนื่อง พร้อมเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมให้ความรู้และเผยแผนการดำเนินงานและเป้าหมายในอนาคต

PIC 1383

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สนพ.  ระบุว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด นับเป็นระบบการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าของประเทศที่มีความสำคัญ และจำเป็นมากในอนาคต วันนี้มองถึงการเปลี่ยนแปลงภาคประชาชนในการเป็นผู้ใช้พลังงาน แต่ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากผู้ซื้อพลังงาน กลายเป็นผู้ผลิตพลังงานและขายพลังงานได้เอง หรือที่เรียกกันว่า “Prosumer” มาจาก Produce + Customer ซึ่งหากไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้ได้เข้ามาในระบบพร้อมกันมากๆ แน่นอนว่า กริด หรือโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ต้องพร้อมรองรับได้แบบเต็มศักยภาพ

S 160677992
วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

ขณะที่นางสาวแพรวพรรณ วงศ์บุญเพ็ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สนพ. กล่าวว่า เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอยู่ใกล้ทุกคนมากขึ้น แทรกซึมอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Disruptive Technology

ในด้านเทคโนโลยีพลังงานก็เช่นกัน มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าได้ด้วยตนเองภายในบ้านผ่าน Home Energy Management System ซึ่งนับเป็นหนึ่งในระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด

สำหรับแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดที่กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายระยะยาวภายใน 20 ปีนั้น ขณะนี้อยู่ในแผนระยะสั้น (พ.ศ.2560 -2564) เป็นช่วงของการค้นคว้าทดลองทำโครงการต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ภาคประชาชน ทั้งนี้ แผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) ด้วย

S 160677993
พรวพรรณ วงศ์บุญเพ็ง

ทางด้านดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดว่า ได้พัฒนากริดเพื่อให้ยืดหยุ่นต่อพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบมากขึ้น ทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง และให้ศึกษาเกี่ยวกับระบบแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน หากเหลือใช้ก็สามารถขายเข้าระบบการไฟฟ้าได้ และโปรเจคใหญ่ของกฟผ.อีก 1 โครงการคือจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2564 จะเปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรี เป้าหมายคือจะให้เป็นต้นแบบด้านพลังงานของเพื่อนบ้านด้วย

DR.THITIPORN EGAT
ดร.ฐิติพร สังข์เพชร

ส่วนนายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า หากในอนาคตมีการผลิตไฟใช้เอง และเหลือใช้เพื่อขายคืน ก็จะทำให้เกิดธุรกิจอย่างหนึ่งขึ้นมาในตลาดพลังงานไฟฟ้าคือ ผู้ที่จะมาดูแลจัดการซื้อขายพลังงาน  ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาครัฐสนับสนุนให้มีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคประชาชน ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันคือ มีคุณภาพ สะอาด และราคาถูก

ในอนาคตเมื่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความชาญฉลาดขึ้น การบริหารจัดการด้านพลังงานมีประสิทธิภาพ ก็จะได้พลังงานในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในระบบอีกมากมาย

PIC 1377
ทรงวุฒิ ขันดี

ทั้งนี้ สนพ. ได้จัดให้มีการสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” เพื่อสร้างความรู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยกระจายความรู้ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีไฟฟ้ายุคใหม่ได้เพิ่มขึ้น พร้อมขยายต่อองค์ความรู้สู่สาธารณะเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Avatar photo