Economics

‘ไออาร์พีซี’ จับมือ 15 บริษัท พร้อมผนึก ‘วช.-ม.เกษตร’ หนุนพลาสติกรีไซเคิล

“ไออาร์พีซี” จับมือ 15 บริษัทอุตสาหกรรมพลาสติก หนุนใช้พลาสติกรีไซเคิล พร้อมผนึก วช – เกษตรศาสตร์ เป็นโรงงานต้นแบบ สร้างระบบรับรอง Zero Plastic Waste ยกระดับความเชื่อมั่นตลาด

S 61612041

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี กล่าวว่า เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติก จึงร่วมกับ 15 บริษัทอุตสาหกรรมพลาสติกต้นน้ำถึงปลายน้ำ เดินหน้าใช้พลาสติกรีไซเคิล

พร้อมกับจับมือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศความร่วมมือ ในการรับรองกระบวนการผลิตรีไซเคิล คอมปาวด์พลาสติกเป็นโครงการแรก ซึ่งมีกรอบตั้งแต่การบริหารจัดการขยะพลาสติก จากแหล่งกำเนิด โดยไม่ปล่อยให้มี Waste Polymer หรือ ของเสียออกจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ตามโมเดล ECO Solution  ด้วยการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติก (Closed Loop) เป็นกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ขยะพลาสติก ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ออกนอกระบบ ไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม

นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ยังได้นำ Big Data สร้างเป็นฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมขยะพลาสติก จากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของ ไออาร์พีซี และลูกค้า ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทำให้การบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดงบประมาณ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

“ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนครั้งนี้ จะนำไปสู่การขับเคลื่อน 3Rs ทั้ง Reuse, Reduce, Recycle ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก Recycle ที่ได้รับการรับรองคุณภาพอีกด้วย” 

นายนพดล ย้ำว่า ตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเติบโตสูง โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ขณะที่กำลังผลิตในตลาดไม่เพียงพอ ดังนั้นการหันมาผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของบริษัทเป็นโอกาสทางธุรกิจ และการรับรองทั้งกระบวนการของการรีไซเคิลจนออกมาเป็นเม็ดพลาสติกพร้อมสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้รับความเชื่อถือจากตลาด

S 61612040

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ และส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน บนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เน้นให้เกิดการนำไปใช้ บนโจทย์แก้ปัญหาและสร้างโอกาส  ปัจจุบัน Zero Waste ได้รับความสนใจมาก และมีโอกาส ให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย และสามารถนำไปขยายผลในโรงงานอื่นๆ

” วช. มุ่งหลักการ Sharing as Beneficial Principle  ที่จะเป็นมาตรการที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก จึงสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบการรับรอง Zero Plastic Waste สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น เพื่อให้การรับรองอุตสาหกรรม ที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือขยะพลาสติก เป็นศูนย์ ” 

โครงการนี้มีไออาร์พีซี เป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองดังกล่าว ในกระบวนการผลิต หรือ Zero Plastic Waste in Production Process โดยระบบการรับรอง Zero Plastic Waste ที่สร้างขึ้นนี้ จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ และเป็นแม่แบบให้แก่ 10 ประเทศในกลุ่ม ASEAN ในอนาคต

รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเดินหน้าลดขยะพลาสติกไม่ใช่แค่  Zero Plastic Waste เท่านั้น แต่ต้องหาทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนด้วย

ขณะที่นายธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ และผู้ร่วมก่อตั้ง นิว อาไรวา จำกัด ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก กล่าวว่า ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลขยายตัว มีผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ และจำนวนมากขึ้นที่พร้อมสนับสนุน แต่ก็หาวัตถุดิบยาก จึงเป็นโอกาสดีที่ไออาร์พีซีจะผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอย่างจริงจัง

นายณัฐกร อติชาดศรีสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัททีมพลาส เคมีคอล จำกัด กล่าวว่า วัสดุจากการรีไซเคิลราคาย่อมสูงกว่า เพราะต้องผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด แต่พบว่าตลาดยุโรป ผลิตภัณฑ์จากรีไซเคิลกลับได้รับความนิยมมากกว่า ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังยอมรับความผิดพลาด และความไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเทรนด์รักษ์โลก ที่มาแรง ในประเทศไทยเทรนด์นี้ก็กำลังเติบโตเช่นเดียวกัน

สำหรับการจับมือของไออาร์พีซี กับกลุ่มผู้ประกอบการ 15 ราย ที่พร้อมจะเดินหน้าสนับสนุนเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ประกอด้วยผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตและออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้และของ แต่งบ้าน ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตกระดาษเปียก หรือผ้า Spunbond และผลิตถุงกระสอบส่งออก ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกคอมปาวด์

S 61612039

S 61612043

S 61612047

S 61612044

Avatar photo