COLUMNISTS

‘ไตรลักษณ์รัฐ’ กับคำตอบของ ‘ฟ้าใส’

Avatar photo
2607

คำถามในการประกวดนางงาม : รัฐบาลหลายประเทศมีนโยบายรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน แต่บางคนเห็นว่านโยบายเหล่านั้นรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับคุณสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากันระหว่าง “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความมั่นคง”

คำตอบนางงามประเทศไทย ” ฟ้าใส” : “ฉันเชื่อว่าทุก ๆ ประเทศนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการหรือนโยบายที่จะรักษาความปลอดภัยของพวกเรา และฉันก็ยังเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยนี้ไม่ควรข้ามเส้นของความเป็นส่วนตัว เพราะว่าเราทุกคนเองมีสิทธิ์ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราเอง อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงนั้นก็จำเป็นและสำคัญ ดังนั้นฉันจึงเชื่อมั่นว่า การที่เราทุกคนจะสามารถอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้นั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องของขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงให้พอเหมาะพอดีเพื่อความสงบสุขของสังคม”

นั่นเป็นคำถาม และคำตอบที่เกิดขึ้นระหว่างการประกวด Miss Universe 2019 ที่นางงามไทยทะลุเข้าไปถึงรอบ 5 คนสุดท้าย ถือเป็นชั่วโมงหยุดโลกแห่งวงการนางงาม เพราะ ประเทศไทยปีนี้ส่ง Miss Universe Thailand  “ฟ้าใส” ปวีณสุดา ดรูอิ้น สาวผูัเพรียบพร้อมทั้งความงาม ความรู้ และสติปัญญา  กองเชียร์นางงามถึงขนาดติดแฮชแท็ก  #มงสามมาแน่ 

แม้กระทั่งสาวเปรี้ยวผูัทรงอิทธิพลแห่งวงการแฟชั่นสาวรุ่นใหม่ มิลิน ยุวจรัสกุล โพสต์ว่า “สามีคะ พรุ่งนี้ขออนุญาตไม่ไปส่งลูกนะคะ จะดูนางงาม ขอบคุณค่ะ #มงสามมาแน่” สาวไทยใจต่างเทใจลุ้นน้องฟ้าใส เข้าอันดับ 1 ในสาม

76327

จากคำถามที่สตีฟ ฮาร์วีย์ ถาม ประกอบกับบริบทการเมืองไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมากับปัจจุบัน ทำให้หลายคนที่เฝ้าติดตามชม โดยเฉพาะบรรดาชาวเน็ต พากันวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา พุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องสิทธิ์ หรือการแสดงออกทางการเมือง ภายใต้การปกครองที่หลายคนมองว่า ถูกควบคุมโดยคณะนายทหาร จึงพากันวิพากษ์วิจารณ์คำตอบของ “ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น” เพียงเพราะไม่ได้เลือกสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง

แต่หากวิเคราะห์และจับประเด็นคำตอบให้ดีๆ ฟ้าใสกำลังสื่อสารให้เห็นว่า สิทธิส่วนบุคคล และ ความเป็นส่วนตัว นั้น เป็นพื้นฐานสำคัญบุคคลพึงมีอยู่แล้ว แต่ความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน

ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นต่อรัฐ ที่ต้องทำให้เกิดความสมดุล ไม่ล่วงล้ำกัำเกินซึ่งกันและกัน ดังนั้นการตอบคำถามจะให้น้ำหนักไปในทางใดทางหนึ่งคงไม่ได้ เพราะทั้งสองอย่างต่างมีความสำคัญ

80272530 486679275298017 2195125074514673664 o

หลังจากอ่านคอมเมนท์เม้าส์ในวงการนางงามเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงงานชิ้นเอกของอาจารย์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ดิฉันได้ร่ำเรียนมา เรียกได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนจากท่าน และยังประทับใจแนวคิดรัฐศาสตร์ของท่านคือ  เรื่อง “ไตรลักษณรัฐ” เกี่ยวกับ 3 แนวคิดพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงของรัฐ ประชาชนยอมมอบสิทธิของตนให้รัฐหรือผู้นำผูัใด เพิ่อตอบสนองความรู้สึกสามเรื่อง คือ

  1. “ความกลัว” ในที่นี้คือการกลัวความตาย กลัวถูกรุกราน กลัวภัยธรรมชาติ จึงเป็นที่มาให้มนุษย์แสวงหาปลอดภัยในชีวิต การดำรงอยู่ของรัฐจึงจำเป็นต้องมี “ความมั่นคงทางการทหาร”
  2. “ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดอยู่อย่างมีความสุข” เมื่อสามารถอยู่รอดได้แล้ว มนุษย์ย่อมแสวงหาความสุขที่มากขึ้น ด้วยการสร้างทรัพย์สินส่วนบุคคล เพื่อรักษาความสุขที่มีอยู่ไปจนถึงอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีสังคมที่ ร่มเย็นเป็นสุข และมี “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”
  3. “ความต้องการที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน มีสิทธิ์ส่วนตัวที่จะคิด แสดงออก ออกความเห็น ต้องการการยอมรับ การมีส่วนร่วม ทั้งการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง และการขับเคลื่อนสังคมที่ตนเองอยู่

ดังนั้น ไตรลักษณ์รัฐทั้ง 3 นี้ ล้วนมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคมหรือรัฐนั้นๆ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือให้ความสำคัญไม่สมดุลกัน ก็อาจนำไปสู่ปัญหาของระบบสังคมในบ้านเมืองนั้นๆ ได้ เหมือนที่ฟ้าใสพยายามสื่อสารว่า “ความมั่นคง” กับ “สิทธิส่วนบุคคล” ต่างก็มีความสำคัญเหมือนกัน

76320

ปัญหาของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับมามองคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะบรรดานักเคลื่อนไหวหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนไปถึงชาวเน็ตที่ไม่ชอบรัฐบาล ก็พาลไปตั้งคำถามว่า ทำไมฟ้าใสไม่ฟันธง! ทำไมฟ้าใสไม่เรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนตัว! ตอบไม่ดี ไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง กลัวรัฐบาล กลัวกลับประเทศไม่ได้ ไปต่างๆ นานา จนตกรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งเป็น การวิพากษ์แบบเอามันไม่คำนึงถึงความถูกต้อง มุ่งอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกและความถูกใจเป็นใหญ่

ดราม่ารอบนี้มั่นใจว่า ฟ้าใสคงสตรอง ยืนนิ่งได้แบบไร้กังวล เพราะยังมีคนไทยอีกหลายคนให้กำลังใจอยู่มากมาย เห็นด้วย และเข้าใจในคำตอบของฟ้าใส

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการป่วยทางสังคม ของพวกที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอินกับเรื่องการเมืองมากเกินไป จนแยกแยะไม่ได้ว่านี่คือเวทีประกวดนางงาม ไม่ใช่เวทีปราศรัยทางการเมือง และกลายเป็นว่าคนกลุ่มนี้เสียเองที่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ความเป็นส่วนตัว” พยายามยัดเยียดความคิดทางการเมืองของตัวเองไปใส่ปากฟ้าใสว่าควรจะตอบอย่างที่ตัวเองต้องการบนเวทีประกวด ด้วยความเข้าใจผิดว่าต้องต่อต้าน “ความมั่นคง” เพื่อต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

แน่นอนว่าความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงของรัฐบาล นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจต้องพึงสังวรณ์​ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน