Economics

ท่องเที่ยว ‘เกาะสมุย’ ซบหนัก วอนสร้าง ‘สะพาน’ เชื่อมแผ่นดินใหญ่

เกาะสมุยขอสะพานเชื่อมแผ่นดินใหญ่ หวังเพิ่มทางเลือกการเดินทาง ช่วยฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

จากปัญหานักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาในขณะนี้ ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวโดยเฉพาะบนเกาะสมุยอยู่ในสภาพเงียบเหงานักท่องเที่ยวบางตา

สมุย

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำคณะลงพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาด้านการท่องเที่ยว จากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุย โดยผู้ประกอบการเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซาขณะนี้ด้วยการลดค่าเงินบาท และการเปิดช่องทางเข้าออกเกาะสมุยด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเกาะสมุยกับแผนดินใหญ่ เพื่อให้การเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า มีทางเลือกในการเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้พบว่า ในปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวยังเกาะสมุย สามารถเดินทางโดยผ่านเรือโดยสารประเภทเรือเฟอร์รี่ที่มีให้บริการสองบริษัท และเรือเร็วลมพระยา หรือการเดินทางด้วยเครื่องบินที่บินตรงมาลงยังเกาะสมุยแต่ติดเงื่อนไขเรื่องราคาที่สูง ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาของการท่องเที่ยว ขณะที่มีจำนวนห้องพักถึงกว่าสามหมื่นห้อง

279728

ขณะที่ข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2561 พบว่า เกาะสมุย มีผู้เยี่ยมเยือน จำนวน 2,651,500 คน คิดเป็น 43 % ของจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างรายได้ 64,726.98ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63 จากรายได้ของการท่องเที่ยวรวมจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัดส่วนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยร้อยละ 40 ชาวต่างประเทศ ร้อยละ 60

ด้านนายแพทย์คำรพ เดชรัตนวิไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย กล่าวว่า การมีสะพานเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ จะช่วยให้การส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีสะดวกมากขึ้น จากปัจจุบันที่การส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด จะต้องส่งผ่านทางเรือเฟอร์รี่ในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนผู้ป่วยฉุกเฉินก็ต้องใช้เรือสปีดโบ้ทนำส่ง ซึ่งอาจมีปัญหาจากคลื่นลมแรงจนกระทบกับผู้ป่วยได้

279727

สำหรับสถิติการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีผ่านเรือเฟอร์รี่ ในปี 2560 ส่งจำนวน 353 ครั้ง , ปี 2561 ส่งจำนวน 342 ครั้ง และในปี 2562 มีการส่งต่อผู้ป่วยจำนวน 361 ครั้ง ส่วนการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยเรือสปีดโบ้ทจำนวน 45 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้เวลาการเดินทางกว่าห้าถึงหกชั่วโมง ดังนั้นถ้ามีสะพานจะทำให้การส่งต่อผู้ป่วยมีความปลอดภัยเพราะทุกนาทีมีค่าสำหรับผู้ที่เจ็บป่วย

นายวิรัช พงศ์ฉบับนภา เจ้าของธุรกิจโรงแรม และผู้ออกแบบสะพานเชื่อนเกาะสมุยกับแผ่นดินใหญ่กล่าวว่า การออกแบบสะพานจะแตกต่างจากสะพานทั่วไปในต่างประเทศ เพราะออกแบบมีช่องทางสำหรับนักปั่นจักรยานจำนวนสองช่องทางไปกลับ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเช่าเหมาลำ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้

Avatar photo