Finance

ไฟเขียว ‘การทางพิเศษฯ’ ใช้เงินกองทุน TFF จ่ายหนี้พันธบัตรรัฐบาล 7 พันล้าน

การทางพิเศษฯ” เร่งสรุปผลประมูล “ทางด่วนพระราม3ฯ” หลังแบกดอกเบี้ย TFF หลังแอ่น 2.6 พันล้าน ด้าน “สคร.” ไฟเขียวให้หมุนเงินไปจ่ายพันธบัตรรัฐบาล 7 พันล้าน

ทางด่วน 2

นางทศานุช ธรรมโชติ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 ระหว่างเดือนตุลาคม 2561-กันยายน 2562 ที่ผ่านมา การทางพิเศษฯ มีเป้าหมายจะนำเงินกู้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนวน 44,811 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่าก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ก้อนแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่การทางพิเศษฯ ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินก้อนแรกได้เลย เนื่องจากการประกาศผลการประมูลแล้วเสร็จล่าช้ากว่าเป้าหมาย

ในขณะเดียวกันการทางพิเศษฯ ได้จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกองทุน TFF ในอัตรา 8% คิดเป็นวงเงินรวม 2,600 ล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ยกเว้นให้การทางพิเศษฯ ไม่ต้องนำดอกเบี้ย TFF มาคิดเป็นรายจ่าย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการองค์กรและโบนัสของพนักงาน

นอกจากนี้ การทางพิเศษฯ ได้พยายามเพิ่มดอกเบี้ยรับจากกองทุน TFF ด้วยการนำเงินกู้จำนวน 44,811 ล้านบาทไปฝากธนาคารรัฐรวม 7 แห่งและลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้การทางพิเศษฯ มีดอกเบี้ยรับจาก TFF จำนวน 700 กว่าล้านบาท เมื่อหักกับดอกเบี้ยจ่ายแล้ว ก็เท่ากับว่าการทางพิเศษฯ มีต้นทุนดอกเบี้ยจาก TFF ในปีงบประมาณ 2562 ทั้งหมด 1,900 ล้านบาท

S 90054663

นางทศานุชกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การทางพิเศษฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นดังกล่าว ล่าสุดได้ลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลงานโยธาโครงการทางด่วนสายพระราม 3ฯ จำนวน 1 สัญญาแล้ว ซึ่งก็คาดว่าจะสามารถออกหนังสือให้ผู้รับเหมาเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (NTP) และเริ่มเบิกจ่ายเงินก้อนแรกจำนวน 600 ล้านบาทได้ในเดือนธันวาคม 2562 ด้านผลการประมูลงานโยธาอีก 3 สัญญา ก็จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในวันที่ 24 ธันวาคม 2562

นอกจากนี้ การทางพิเศษฯ ได้สอบถาม สคร. เพิ่มเติมว่า จะสามารถนำเงินจากกองทุน TFF ไปจ่ายหนี้พันธบัตรรัฐบาลปีงบประมาณ 2563 ได้หรือไม่ เพื่อใช้สภาพคล่องจาก TFF ให้เกิดประโยชน์ระหว่างที่การก่อสร้างทางด่วน สายพระราม 3ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ

ล่าสุด สคร. ก็ตอบมาแล้วว่าสามารถนำเงินกู้ TFF ไปใช้ได้ในกรณีนี้ได้ ดังนั้น การทางพิเศษฯ จะนำเงินจาก TFF ไปจ่ายหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดในปี 2563 ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่าการกู้ยืมจากแหล่งอื่นๆ ประมาณ 100 กว่าล้านบาท โดยจะเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 และรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามขั้นตอนต่อไป

ทางด่วน ภาพจากคมนาคม3

นางทศานุชกล่าวถึง ประมาณการณ์ผลประกอบการของการทางพิเศษฯ ในปีงบประมาณ 2563 ระหว่างเดือนตุลาคม 2562-กันยายน 2563 ว่า อัตราการเติบโตคงจะไม่หวือหวาเฉลี่ย 2-3% รายได้อยู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท และกำไรอยู่ในระดับ 6,000 ล้านบาทตามปกติ เพราะทางด่วนสายเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางด่วนสายศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น ซึ่งการทางพิเศษฯ ก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้การจราจรและการจ่ายค่าผ่านทางไหลลื่นมากขึ้น

Avatar photo