Business

‘บินไทย’ หวังไตรมาส 4 ช่วยลดขาดทุนปีนี้ เตรียมตัวปึ๊กรับปัจจัยลบปีหน้า

“การบินไทย” หวังไตรมาส 4 ช่วยฉุดผลประกอบการปีนี้ติดลบน้อยลง ส่วนปีหน้าคาดสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แต่บริษัทเตรียมตัวปึ๊ก เชื่อรับมือได้ พร้อมเปิดตัวร่วม “ชิม ช้อป ใช้” เฟสถัดไป

CHE 6953

จากกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 และขาดทุนสุทธิรวม 11,102 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 175.1% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 นั้น

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการอำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำกัด เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2562 และการดำเนินงานของสายการบินไทย เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา การบินไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงและปัจจัยลบหลายด้าน ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน โดยรายได้ของบริษัทลดลง แต่จะเห็นว่าบริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น

แต่การบินไทยหวังว่าผลประกอบการสุทธิรวม 4 ไตรมาสในปี 2562 จะขาดทุนลดลง เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งตอนนี้ก็มียอดจองที่นั่งล่วงหน้าเข้ามาแล้วกว่า 80% และบริษัทยังไม่ยอมแพ้ เพราะยังเหลือเวลาอีก 1 เดือนครึ่งถึงปิดปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้รุนแรงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปี 2562

TG127 THAI Increases Preferred Seats Selection on All International Flights 2

ทำการบ้านหนัก รับมือปีหน้า

สำหรับปี 2563 บริษัทประเมินว่าสถานการณ์คงไม่ได้ดีไปกว่าปีนี้ การแข่งขันยังคงรุนแรง มีปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งยังไม่เห็นแนวโน้มที่อ่อนค่าและยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบอื่นๆ ที่ยังไม่มีแน่นอน ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา การที่ประเทศอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ความขัดแย้งในฮ่องกง เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกคือราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ในระดับไม่เกิน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายสุเมธกล่าวว่า แม้สถานการณ์ในปี 2563 จะมีแนวโน้มทรงตัว แต่การบินไทยก็เชื่อว่าบริษัทจะรับมือได้ดีขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทพยายามปรับตัว กำหนดมาตรการต่างๆ และมีแผนรับมือสถานการณ์ปี 2563 อย่างเป็นรูปแบบธรรม ด้วยการเดินหน้าแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและวางกลยุทธ์ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้
  • การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ
  • การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า
  • การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
  • การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล
  • วิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้รูปแบบเซนไดโมเดล
  • สายการบินไทยสมายล์เข้าสู่ระบบ Connecting Partner ของกลุ่ม Star Alliance อย่างเต็มรูปแบบ เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการบิน
  • ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวาระครบ 60 ปีของ 2 หน่วยงาน โดยจัดทำแคมเปญทางการตลาดร่วมกัน กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

B777 200ER การบินไทย

ทุนจีนหนุนเช่าซื้อเครื่องบิน

นอกจากนี้การบินไทยเพิ่งลงนามกับธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก เพื่อเสริมกลยุทธ์ความแข็งแกร่งทางการเงิน (Strategic Financial Support) ในการให้บริการจัดการด้านการเงินได้แก่ การจัดหาเงินทุนขององค์กร (Corporate Finance) การให้สินเชื่อการเช่าซื้ออากาศยาน (Aircraft Financing) การบริหารจัดการเงินสดและอัตราแลกเปลี่ยน (Cash Management and FX Management) และความร่วมมือในการเชื่อมระบบธุรกิจอีคอมเมิร์ชระหว่างการบินไทย กับ ICBC Emall เพื่อให้ลูกค้าช้อปปิ้งได้อย่างสะดวกสบายรวมทั้งพัฒนาระบบการชำระเงิน ในโปรแกรม I Go Thailand ของนักเดินทางชาวจีนที่เป็นฐานลูกค้าของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ที่ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิต จำนวนรวมกว่า 900 ล้านใบ ให้เข้ากับระบบการชำระเงินของการบินไทย เป็นต้น

ขณะเดียวกันสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดเข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลในเฟสถัดไปด้วย

Avatar photo