Economics

ธปท.เน้น ‘เพิ่มผลิตผล-สร้างภูมิคุ้มกัน’ พัฒนาการเงินในอนาคต

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “Developing a Financial System for the Future” หรือ การพัฒนาระบบการเงินสำหรับอนาคต บนเวทีสัมมนา “บลูมเบิร์ก อาเซียน บิสซิเนส ซัมมิต” วันนี้ (12 ก.ค.)ว่า  ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความผันผวน ไร้เสถียรภาพ ความซับซ้อน และความคลุมเครือในระดับสูงเช่นนี้ เศรษฐกิจไทย ก็เหมือนกับเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ

วิรไท สันติประภพ1
วิรไท สันติประภพ

การปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติของชาติเศรษฐกิจก้าวหน้า  มูลค่าหนี้ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก การประเมินมูลค่าสินทรัพย์โลกที่ยืดขยายออกไป และความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้า ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายอย่างฉับพลันต่อเสถียรภาพในระบบการเงินของเรา

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี สังคมสูงวัย และความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดความท้าทายทางด้านโครงสร้างต่อชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมาก รวมถึง ไทย

ในการที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ หน้าที่ของธปท.ไม่เพียงแต่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเงินไว้เท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาระบบการเงิน เพื่อปลดล็อคเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เศรษฐกิจไทยมีเครื่องมือรองรับอย่างเหมาะสม ที่จะต้านทานกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทุกประเภท มีทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก มีมูลค่าสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.5 เท่า ไทยยังพึ่งพาเงินกู้นอกประเทศในระดับต่ำ และมีตัวเลขได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดราว 8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธนาคารของไทยยังแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18% ติดกลุ่มสูงสุดในภูมิภาค

ธปท.ยังได้มีการเพิ่มมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์รวม และมาตรการกำกับดูแลโดยคำนึงถึงความเข้มแข็ง และความเสี่ยงทางการเงินของแต่ละสถาบันการเงินเป็นรายๆ ไป เช่น การออกกฎข้อบังคับในมาตรฐานการดูแลสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบ (D-SIBs) ควบคู่ไปกับการออกกฎข้อบังคับที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อรับมือกับปัญหาหนี้ครัวเรือน

ท่ามกลางความท้าทายในด้านโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น ธปท.ได้เพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำ ด้วยการกำหนดทิศทางนโยบาย และสร้างความมั่นใจว่า ระบบการเงินจะพัฒนาไปพร้อมกับความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของคนไทย

การฉกฉวยความได้เปรียบจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และราคาไม่แพง ทำให้ธปท.สามารถมุ่งเน้นไปที่ความต้องการสำคัญ 3 ประการคือ การสร้างผลิตผล สร้างภูมิคุ้มกัน และดำเนินงานอย่างครอบคลุม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

การเพิ่มผลิตผล เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยหนึ่งในความท้าทายหลักที่ไทยต้องเผชิญ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง ที่เป็นผลมาจากแรงงานสูงวัย

การเติบโตในผลผลิตแรงงานของไทยกำลังลดลง ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาสำหรับโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยการที่จะรับประกันถึงการขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไทยต้องสร้างผลผลิตมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า การนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ จะเป็กุญแจสำหรับการบรรลุเป้าหมายนี้

ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกัน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงความผันผวน ไร้เสถียรภาพ ความซับซ้อน และความคลุมเครือในระดับสูง ของภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งการที่เราอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะออกมาได้

ทั้งความผันผวนก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านนโยบาย และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล

ความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ ที่จะกลายมาเป็นปัจจัยหลักสำหรับป้องกันความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ และระบบการเงินของประเทศ

ที่ผ่านมาธปท.มีแนวร่วมพัฒนาระบบการเงินแห่งอนาคตกับหลายธนาคารพาณิชย์ ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ โครงการพร้อมเพย์ เป็นโครงการที่เพิ่มผลิตภาพเพราะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมโอนเงินให้กับประชาชน และภาคธุรกิจช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินสดของประเทศโดยรวม ขณะที่สถาบันการเงินได้รับประโยชน์จากต้นทุนการบริหารเงินสดที่ลดลง ประชาชนรายย่อยได้รับประโยชน์จากการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียม

ขณะที่เศรษฐกิจของอาเซียนยังเติบโตในระดับดีมากที่ผ่านมามีทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเห็นศักยภาพของอาเซียนจึงออกไปลงทุนรวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงทางด้านการเงินทางด้านห่วงโซ่การผลิตในหลายมิติ

ตลาดอาเซียนยังเป็นตลาดสำคัญที่สถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยจะให้ความสำคัญต่อไป ดังจะเห็นได้จากมีการออกไปลงทุนมากในประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงศักยภาพของเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ผ่านมาได้มีการหารือกันได้แก่การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพราะธุรกรรมทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเพิ่มสูงขึ้น

ขณะนี้ไทยได้เริ่มกับประเทศอินโดนีเซียแล้ว และขยายไปยังประเทศอื่น  การส่งเสริมธนาคารอาเซียนที่มีคุณภาพ  ที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์จากประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งไปเปิดให้บริการในอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายขึ้นซึ่งประเทศไทยได้สรุปการเจรจากับมาเลเซียไปแล้วขบวนการต่อไปคือผ่านการพิจารณาของสภาของทั้งสองประเทศรับรองต่อไป

นอกจากนี้ยังเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ของธนาคารในกลุ่มประเทศอาเซียน ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีที่สถาบันการเงินในประเทศใดประเทศหนึ่งถูกภัยไซเบอร์เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ได้เตือนสถาบันการเงินในประเทศของตนและมีมาตรการป้องกันได้รวดเร็ว

อีกเรื่องคือ การส่งเสริม ให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ เพราะปัจจุบันมี Fintech Firm อยู่จำนวนไม่น้อยขณะที่ธนาคารพาณิชย์  หาแอพพลิเคชัน เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight