Economics

‘พาณิชย์’ จับมือจุฬาฯ ชำแหละค่ายา พบฟันกำไรสูงสุดเกินหมื่นเปอร์เซนต์ รพ.ยิ่งใหญ่ยิ่งแพง

กรมการค้าภายในจับมือคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนราคายาที่โรงพยาบาลเอกชนขาย พบโรงพยาบาลแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือขายยาแพงกว่าโรงพยาบาลแบบเดี่ยว และแบบมูลนิธิ เล็งศึกษาต่อหากำไรมาตรฐานที่ควรจะเป็น ก่อนนำมาใช้จัดการ เผยยาที่จำเป็นอย่างยาแก้ปวดลดไข้ พบกำไร 26.58-4,483.34% ยาลดไขมัน กำไร 185.71-11,965.21%

resize 5dbaafdf3394c

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา ที่โรงพยาบาลเอกชนได้ยื่นราคาซื้อขายมาให้กับกรมก่อนหน้านี้ โดยพบว่ามีการคิดราคายาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีบริษัทในเครือ ทั้งๆ ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่า ต้นทุนในการซื้อยาถูกกว่า แต่ขายในราคาที่แพงกว่าโรงพยาบาลแบบเดี่ยวและแบบมูลนิธิ ที่มีอำนาจต่อรองต่ำ และซื้อยาได้ในต้นทุนที่สูงกว่า แต่ก็สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าได้

กรมจะนำผลศึกษามาวิเคราะห์อีกที และขอให้คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี เข้ามาดูต่อว่ากำไรมาตรฐานที่ควรจะเป็นของยาแต่ละชนิด ควรจะเป็นเท่าใด และจากนั้น ถึงจะมีแนวทางในการดำเนินการต่อ เพราะหากโรงพยาบาลเอกชนยังคิดราคาแพงแบบสุดโต่ง ก็จะต้องเข้าไปจัดการ

ทางด้านผศ.ดร.สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนยาของโรงพยาบาลไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดธุรกิจ โดยธุรกิจแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือ ส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายยาสูง แต่ราคาซื้อต่ำ มีกำไรส่วนเกินสูง

ส่วนโรงพยาบาลแบบเดี่ยว กำหนดราคาค่อนข้างต่ำ แต่ซื้อราคาสูง มีกำไรส่วนเกินต่ำกว่าแบบกลุ่ม และยังพบว่าโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวตั้งราคาขายยาสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

pill

“ตามธรรมชาติของการทำธุรกิจ บริษัทใหญ่ หรือบริษัทที่เป็นกลุ่ม มีบริษัทในเครือมาก จะมีอำนาจต่อรองสูง แล้วซื้อยาได้ในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ต้นทุนต่ำ แต่การตั้งราคายากลับสวนทาง มีการตั้งราคาสูงกว่าโรงพยาบาลที่ซื้อยามาในต้นทุนสูง จึงสรุปได้ว่าการตั้งราคายา ไม่สอดคล้องกับต้นทุน คือ ต้นทุนต่ำ แต่กำหนดราคาขายสูง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง ก็คือ ยาที่มีวอลุ่มการใช้มาก แก้ปวด ลดไข้ พวกนี้ถ้ายิ่งกำไรเยอะ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงสังคม”

นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา Forensic Services บริษัท ไพร้ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้เข้ามาช่วยศึกษาและวิเคราะห์ต้นทุนราคายาของโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่ามียาเป็นจำนวนมากที่มีต้นทุนการซื้อถูกมาก แต่มีการตั้งราคาสูง และกำไรสูงมาก ทั้งกำไรจากต้นทุน และกำไรส่วนเกิน

ตัวอย่าง เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ (Tylenal) ต้นทุนเม็ดละ 48 สตางค์ มีราคาขาย 1-22 บาท กำไร 26.58-4,483.34% ยาลดความดัน (Anapril) ขาย 2-56 บาท กำไร 150-9,100% , ยาลดไขมัน (Bestatin) ขาย 2-61 บาท กำไร 185.71-11,965.21%  ยารักษาลมชัก (Depakine) ขาย 300-1,354 บาท กำไร 26.12-470.01% , ยาฆ่าเชื้อ (Ciprobay) ขาย 1,723-3,655.88 บาท กำไร 64.42-255.81% และยามะเร็ง ขาย 86,500-234,767 บาท กำไร 9.98-188.80%

Avatar photo